หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SME…
คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งที่คุณต้องการมากที่สุดก็คือ “ลูกค้า”
และการที่คุณจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ คุณก็จำเป็นต้องทำการตลาดเพื่อให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักด้วยการโปรโมทสินค้าและบริการของคุณผ่านช่องทางต่างๆ
ป้ายโฆษณา, ใบปลิว, โปรชัวร์, นามบัตร, โฆษณาทีวี, นิตยสาร, หนังสือพิมพ์, การบอกต่อจากคนรอบข้าง… สิ่งเหล่านี้คือช่องทางการตลาดแบบดั้งเดิมที่หลายๆธุรกิจยังใช้อยู่ในปัจจุบัน (ซึ่งแน่นอนว่ามันได้ผล… หากทำอย่างถูกต้อง)
แต่ในปัจจุบันมีการตลาดอีกช่องทางหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมาก…
ซึ่งเป็นช่องทางที่ค่าใช้จ่ายถูกกว่าช่องทางเหล่านี้, เข้าถึงลูกค้าได้แม่นยำกว่า, วัดผลลัพธ์ได้ดีกว่า, และที่สำคัญที่สุด… ทุกธุรกิจสามารถใช้ช่องทางนี้ในการเริ่มต้นสร้างลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ ถึงแม้ว่าธุรกิจนั้นจะมีงบประมาณด้านการตลาดที่จำกัด
ช่องทางที่ว่านี้ก็คือ… “การตลาดออนไลน์”
การตลาดออนไลน์คือช่องทางในการสร้างลูกค้าที่เกือบทุกธุรกิจกำลังพูดถึง แต่คำถามก็คือ จริงๆแล้วการตลาดออนไลน์คืออะไรกันแน่…
การตลาดออนไลน์คืออะไร?
หากเราจะให้ความหมายกับคำว่า “การตลาดออนไลน์” แบบสั้นๆ ก็อาจจะอธิบายได้ว่า…
การตลาดออนไลน์คือวิธีการทำให้สินค้าและบริการของธุรกิจเป็นที่รู้จักและมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคนิคและเครื่องมือทางออนไลน์ต่างๆ เช่น สื่อสังคม (Social Media), สื่อออนไลน์ (Online Media), เซิจเอนจิ้น (Search Engine) เป็นต้น
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตลาดออนไลน์คือวิธีการทำการตลาด จากเดิมที่ธุรกิจเคยใช้สื่อแบบดั้งเดิมที่เป็นออฟไลน์ มาเป็นแบบออนไลน์…
ทำไมจึงเป็นแบบนั้น?
เหตุผลก็เพราะในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนจากสิ่งที่เคยทำก่อนหน้านี้ เช่น:
จากเดิมที่ทุกคนเคยส่งจดหมายทางไปรษณีย์ ก็เปลี่ยนมาใช้อีเมล
จากเดิมที่ทุกคนเคยดูหนังและละครผ่านทีวี ก็เปลี่ยนมาใช้ YouTube
จากเดิมที่ทุกคนเคยอ่านเพียงแค่หนังสือพิมพ์ ก็เปลี่ยนมาอ่านบล็อกหรือเว็บข่าว
จากเดิมที่ทุกคนเคยทำความรู้จักคนใหม่ๆด้วยการเจอตัวต่อตัว ก็เปลี่ยนมาใช้ Facebook

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลากับสื่อแบบดั้งเดิมน้อยลง และหันมาใช้เวลากับสื่อดิจิตอลและออนไลน์มากขึ้น…
ธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถเห็นสินค้าและบริการของตัวเองได้บนจอโทรศัพท์, แท็บแล็ต, สมาร์ททีวี หรือคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานได้นั่นเอง
เมื่อผู้ใช้งานซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถเห็นธุรกิจของคุณจากออนไลน์ได้…
ธุรกิจของคุณก็จะเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับของสินค้าและบริการ รวมทั้งถามคำถามที่เขามี
ดังนั้นเป้าหมายของการทำการตลาดออนไลน์ก็คือ การทำให้ธุรกิจของคุณแสดงสินค้าและบริการที่ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ, ในเวลาที่ถูกต้อง, และในที่ที่ถูกต้อง ตอนที่คนๆนั้นกำลังใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเล่น Facebook, อ่านข่าวบนเว็บไซต์, หรือหาข้อมูลต่างๆบนเซิจเอนจิ้นนั่นเอง
การตลาดออนไลน์อาจเป็นเรื่องที่ดูซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น…
คุณอาจจะไม่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้ภายในวันเดียว…
แต่เพื่อให้คุณเข้าใจทุกอย่างได้ง่ายที่สุดและสามารถเริ่มต้นทำการตลาดออนไลน์อย่างได้ผล สิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญมีเพียงแค่ 3 อย่างนี้ก็คือ:
1. จะทำอย่างไรให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้ามาหาและรู้จักกับคุณ
2. จะทำอย่างไรให้เขาคุ้นเคยและไว้ใจคุณ
3. จะทำอย่างไรให้เขาตัดสินใจซื้อหรือรับข้อเสนอที่คุณมอบให้อย่างเต็มใจ
ง่ายๆใช่ไหมครับ? แค่สามขั้นตอนเท่านั้นสำหรับการเริ่มต้น
ทีนี้เรามาเรียนรู้เพิ่มเติมกันสักนิดว่าคุณจะสร้างลูกค้าให้กับธุรกิจด้วยการทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างไร
การตลาดออนไลน์กับธุรกิจ SME
สำหรับธุรกิจ SME แล้วการตลาดออนไลน์ไม่ได้แตกต่างจากการตลาดช่องทางอื่นๆเลย…
เพราะเป้าหมายของการทำการตลาด ไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ตาม ก็คือทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายรู้จักกับสินค้าและบริการมากขึ้น และสร้างความคุ้นเคยกับแบรนด์เพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างผู้สนใจและลูกค้ารายใหม่ๆ
แต่สิ่งเดียวที่ทำให้การตลาดออนไลน์แตกต่างจากการตลาดแบบดั้งเดิมก็คือ “วิธีการเข้าถึงลูกค้า”
ลองนึกตามแบบนี้ครับ..
คุณซื้อสินค้าและบริการครั้งล่าสุดตอนไหน?
ไม่ว่าสินค้าหรือบริการนั้นคืออะไร คุณอาจได้มีการค้นหาข้อมูลเบื้องต้นบนอินเทอร์เน็ตก่อนที่จะตัดสินใจซื้อมัน ไม่ว่าจะเป็น:
- รีวิวจากผู้ใช้งานคนอื่นๆ
- ความคิดเห็นจากเพื่อนของคุณ
- คุณสมบัติต่างๆและความสามารถของสิ่งนั้นๆ
- ราคาและความคุ้มค่า
- ความน่าเชื่อถือของคนขาย
- และอื่นๆอีกมากมายที่คุณใช้ประกอบการตัดสินใจ
ลูกค้าของคุณก็ไม่ได้แตกต่างกัน…
เพราะเขาใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการค้นหาข้อมูลของสินค้าและบริการที่ต้องการจะซื้อ
ด้วยเหตุผลนี้เอง ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะขายสินค้าและบริการอะไร สิ่งแรกที่คุณจะต้องมีสำหรับการทำการตลาดออนไลน์เพื่อให้ลูกค้ารู้จักคุณก็คือ “ตัวตนบนโลกออนไลน์” (Online Presence)… เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าสามาถมองเห็นคุณได้
ดังนั้นในการทำการตลาดออนไลน์เพื่อสร้างลูกค้าให้กับธุรกิจก็คือ คุณจำเป็นที่จะต้องออกแบบกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้าสามารถมองเห็นคุณได้ในหลายๆช่องทางบนอินเทอร์เน็ตนั่นเอง…
ไม่ว่าจะเป็นการมีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสินค้าและบริการอย่างครบถ้วน, การทำให้ธุรกิจสามารถแสดงขึ้นมาเมื่อลูกค้าค้นหาสินค้าและบริการที่คุณขาย, การลงโฆษณาเพื่อให้คุณสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว, การมีโปรไฟล์ Social Media อย่างเพจ Facebook เพื่อให้พูดคุยกับลูกค้าได้ทันที, การใช้เทคนิค Remarketing หรืออีเมลเพื่อติดตามลูกค้า…
คุณจำเป็นต้องทำให้ทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้การตลาดออนไลน์ของคุณเป็นระบบที่คอยสร้างลูกค้ารายใหม่ๆให้กับธุรกิจของคุณ
เมื่อคุณทำทุกอย่างได้อย่างถูกต้อง คุณก็จะสามารถ…
- เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการได้
- สร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นจากการสร้างลูกค้ารายใหม่ๆหรือลูกค้าที่ธุรกิจมีอยู่แล้ว
- ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยการใช้ประโยชน์จาก Social Media
- ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้นเมื่อคุณให้สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ
- มีลูกค้ารายใหม่ๆเข้ามาใช้บริการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
- วัดผลลัพธ์และความคุ้มค่าจากงบประมาณและสิ่งที่ทำลงไปทั้งหมดได้อย่างแม่นยำ
ทั้งนี้คุณอาจจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์ทั้งหมดในทันที เพราะคุณจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการทำทุกๆอย่างให้มีความเชี่ยวชาญ
แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปครับ..
แม้คุณจะไม่เคยมีพื้นฐานใดๆเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์มาก่อน คุณก็สามารถประสบความสำเร็จในการสร้างลูกค้าจากออนไลน์ให้กับธุรกิจของตัวเองได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญก็คือ หากสินค้าและบริการของคุณมีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่แล้ว… สิ่งที่คุณต้องทำก็มีเพียงการทำตามขั้นตอนทั้งหมดที่ผมกำลังจะบอกคุณนั่นเอง
เรามาเริ่มต้นกันที่ “วิธีการและกลยุทธ์” ที่จะพื้นฐานที่จะทำให้คุณสามารถสร้างลูกค้าให้กับธุรกิจได้ด้วยการทำการตลาดออนไลน์กันครับ
กลยุทธ์และวิธีทำการตลาดออนไลน์
การตลาดออนไลน์เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ลูกค้าของคุณ” ไม่ใช่ตัวคุณ, ธุรกิจของคุณ, หรือสินค้าและบริการของคุณ…
เป้าหมายของการตลาดออนไลน์ก็คือการทำให้เขารู้จักคุณ, ชอบคุณ, และไว้ใจคุณ เพื่อให้ลูกค้าคนนี้ซึ่งเป็นคนแปลกหน้าสำหรับธุรกิจของคุณมาก่อน กลายเป็นลูกค้าที่จ่ายเงินให้กับคุณ และพร้อมที่ซื้อสินค้าและบริการจากคุณอยู่เรื่อยๆ
ด้วยเหตุผลนี้เอง กลยุทธ์และวิธีทำการตลาดออนไลน์จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกค้าของคุณ
ความสัมพันธ์นี้จะถูกพัฒนาผ่าน “Customer Journey” ซึ่งเป็นกระบวนการที่ลูกค้าทุกๆคนของคุณจะต้องผ่าน… ซึ่ง Customer Journey จะเป็นสิ่งที่อธิบายว่าคนแปลกหน้าหนึ่งคนจะกลายเป็นลูกค้าของคุณได้อย่างไร รวมไปถึงการออธิบายว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าของคุณกลายเป็นแฟนตัวยงของธุรกิจคุณ
กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่จะทำให้คุณสามารถเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นลูกค้าที่ชื่นชอบธุรกิจของคุณและพร้อมจะซื้อสินค้าและบริการจากคุณซ้ำๆก็คือ…การทำความเข้าใจว่าลูกค้าแต่ละคนมีระดับการตัดสินใจและความต้องการที่แตกต่างกัน
ซึ่งการจะทำให้ลูกค้าแต่ละคนไว้ใจคุณมากขึ้นจนพร้อมที่จะซื้อจากคุณ… คุณจำเป็นที่จะต้องสร้างคอนเทนต์และมอบข้อเสนอที่ตอบโจทย์ความต้องการของเขา ณ ขณะนั้น
ทั้งนี้ เนื่องจากการที่คนหนึ่งคนซึ่งเป็นคนแปลกหน้าจะตัดสินใจมาเป็นลูกค้าที่จ่ายเงินให้กับคุณมักจะไม่ได้เกิดขึ้นในขั้นตอนเดียวหรือวันเดียว…
นี่คือ 4 ขั้นตอนเพื่อทำให้คุณสามารถยกระดับการตัดสินใจของเขาและสามารถการวางแผนการตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจของคุณเองได้
Customer Journey คืออะไร?
Customer Journey คือสิ่งที่จะอธิบายทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการทำการตลาดออนไลน์ทั้งหมดของคุณอย่างเป็นลำดับ… ซึ่งเป็นกระบวนการในการสร้างลูกค้าของธุรกิจคุณ ที่คนทุกคนจะต้องผ่านก่อนที่จะกลายเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้าและบริการจากคุณ
การทำความเข้าใจ Customer Journey ของธุรกิจถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมันจะส่งผลต่อการวางแผนการตลาดออนไลน์ของธุรกิจคุณด้วย
ทั้งนี้นี่คือ Customer Journey Map ซึ่งเป็นหน้าตาของกระบวนการทั้งหมดในการทำการตลาดออนไลน์

ขั้นตอนที่ 1: Attract
ลูกค้าจะไม่สามารถซื้ออะไรจากคุณได้เลยหากเขาไม่รู้ว่าคุณกำลังทำธุรกิจอะไรอยู่ หรือมีสินค้าและบริการอะไรที่เขาต้องการ
ดังนั้นเป้าหมายแรกของการทำการตลาดออนไลน์ก็คือ การทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้ามารู้จักกับธุรกิจของคุณก่อน… เพราะเมื่อเขาเริ่มรู้จักกับธุรกิจของคุณแล้ว เขาจะได้พิจารณาและตัดสินใจในภายหลังได้ว่า เขาอยากจะเป็นลูกค้าของคุณหรือไม่
การทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้ารู้จักกับธุรกิจของคุณสามารถทำได้ด้วย “การดึงดูด” (Attract) โดยการนำเสนอคอนเทนต์ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าของคุณในรูปแบบการเขียนบล็อก, ไฟล์สำหรับดาวน์โหลด, หรือโพสต์ใน Social Media
กล่าวอีกอย่างก็คือ ในขั้นตอน Attract นี้ คอนเทนต์ที่คุณนำเสนอในรูปแบบต่างๆก็เปรียบเสมือน “แม่เหล็ก” ที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เข้ามาหาคุณ
เพราะเมื่อคุณนำคอนเทนต์นี้ไปปล่อยตามที่ต่างๆในอินเทอร์เน็ตซึ่งลูกค้าเป้าหมายของคุณอยู่… คนที่กำลังเผชิญปัญหาที่คุณนำเสนอในคอนเทนต์นั้น ก็จะวิ่งเข้าหาคอนเทนต์ของคุณเองหากเขาต้องการแก้ปัญหา
ตัวอย่างของวิธีทำการตลาดออนไลน์เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เข้ามารู้จักกับธุรกิจ เช่น:
- พนักงานออฟฟิศที่ได้งานใหม่เห็นโฆษณาคอนโดใกล้ที่ทำงานใน Facebook
- นักศึกษาที่กำลังดูวีดีโอรีวิวเปรียบเทียบแท็บเล็ตแต่ละยี่ห้อ
- เจ้าของกิจการที่เซิจหาโต๊ะทำงานใหม่ใน Google
ในขั้นตอนนี้ ยิ่งคุณรู้จักลูกค้าของคุณดีเท่าไร คุณก็ยิ่งสามารถสร้างคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของเขามากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้คุณได้ลูกค้าที่ธุรกิจต้องการจริงๆ
ขั้นตอนที่ 2: Convert
นี่คือขั้นตอนถัดมาหลังจากที่ลูกค้าเป้าหมายได้รู้จักกับธุรกิจของคุณแล้ว…
เขารู้แล้วว่าธุรกิจของคุณชื่ออะไร, คุณมีสินค้าและบริการอะไร, รวมไปถึงสิ่งที่คุณขายน่าจะเป็นประโยชน์กับเขาอย่างไร… แต่เขาก็ยังไม่ได้ตัดสินใจกลายเป็นลูกค้าของคุณ
เป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่จะไม่ยอมจ่ายเงินให้กับคนที่เพิ่งรู้จักกันเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันเท่านั้น…
ทั้งนี้ก็เพราะทุกคนถูกสอนมาให้ระวังคนแปลกหน้า
ดังนั้นในการทำการตลาดออนไลน์คุณจึงไม่ควรคาดหวังว่าลูกค้าของคุณจะตัดสินใจซื้อในทันที และควรยอมรับตั้งแต่เนิ่นๆว่า คนส่วนใหญ่จะปฏิเสธที่จะซื้อจากคุณ
อย่างไรก็ดี การที่เขาปฏิเสธที่จะซื้อจากคุณวันนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาจะปฏิเสธที่จะเป็นลูกค้าของคุณในอนาคต
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่…
คุณจำเป็นต้องทำให้ลูกค้าเป้าหมายไม่เพียงแค่ “รู้จัก” กับธุรกิจของคุณ, แต่รวมไปถึง “ชอบ” และ “ไว้ใจ”
การที่คุณจะทำแบบนั้นก็คือ การพูดคุยกับเขาอย่างสม่ำเสมอผ่านคอนเทนต์ดีๆหรือข้อเสนอที่เขาได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างของวิธีทำการตลาดออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าชอบและไว้ใจธุรกิจของคุณ เช่น:
- ผู้หญิงวัยรุ่นที่ชอบออกกำลังกายติดตามเพจโยคะและดูวีดีโอของครูฝึกสอนในเพจ
- ผู้ปกครองคนหนึ่งได้รับอีเมลจากสถาบันกวดวิชาเกี่ยวกับวิธีการจัดตารางอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบสำหรับนักเรียนมัธยม
- ชายวัยกลางคนกำลังอ่านบล็อกเกี่ยวกับวิธีการดูแลและรักษารากฟันจากเว็บไซต์คลินิกทันตกรรม
เพื่อที่จะสร้างความไว้ใจ คุณจำเป็นต้องมีช่องทางการเข้าถึงลูกค้าซึ่งจะทำให้คุณสามารถพูดคุยและนำเสนอสิ่งดีๆให้กับเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคุณสามารถทำได้โดยให้เขาติดตามเพจ, ลงทะเบียนรับข่าวสาร, บันทึกผู้เข้าชมเว็บไซต์ใน Remarketing List เพื่อให้เขาเห็นโฆษณาของคุณซ้ำๆ เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3: Close
ในขั้นตอนนี้ธุรกิจของคุณมีผู้ติดตามแล้ว รวมทั้งคุณมีการพูดคุยและสร้างความคุ้นเคยกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง…
หากคุณนำเสนอแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขาและสร้างความไว้ใจได้ ผู้ติดตามจำนวนหนึ่งของคุณก็จะยกระดับการตัดสินใจของตัวเองและมีความพร้อมที่จะซื้อ
นี่คือจุดที่ลูกค้าของคุณเริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่คุณนำเสนอน่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับเขาได้จริงๆ… และคุณสามารถที่จะยื่นข้อเสนอต่างๆให้เขา “จ่ายเงิน” เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้
อย่างไรก็ดี การจะทำให้ลูกค้าจ่ายเงินให้กับสินค้าและบริการที่มีราคาสูงมักจะใช้เวลานานกว่าสินค้าและบริการที่มีราคาต่ำ… ซึ่งหมายความว่า หากคุณขายสินค้าและบริการราคาสูง แต่ลูกค้ายังไม่รู้สึกไว้ใจคุณมากพอ เขาก็มีโอกาสที่จะปฏิเสธคุณ
ดังนั้นสิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญในขั้นตอนนี้ไม่ใช่การนำเสนอสินค้าและบริการราคาสูงเพื่อให้คุณสามารถสร้างกำไรจำนวนมาก… แต่ควรเป็นสินค้าและบริการที่ราคาต่ำหรือไม่สูงมากเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้เป้าหมายก็คือ การทำให้ลูกค้าแสดงความพร้อมออกมาด้วยการจ่ายเงิน และคุณมอบสินค้าและบริการที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับเขาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เขาพร้อมจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นในภายหลัง
กล่าวคือ… ในขั้นตอน Close หรือปิดการขายนี้คือการยื่นข้อเสนอที่เปรียบเสมือการทดลองใช้สินค้าและบริการขั้นต้น เพื่อเป็นการสร้างความไว้ใจที่เขามีต่อบริการของคุณ ก่อนที่คุณจะขอให้เขาซื้อสินค้าและบริการอื่นๆที่มีราคาสูงขึ้นนั่นเอง
เมื่อลูกค้าหนึ่งคนตัดสินใจจ่ายเงินให้กับคุณแล้ว นั่นคือคุณได้ “คนที่เป็นลูกค้าจริงๆ” ซึ่งกำไรจะตามมาเองในภายหลัง
ตัวอย่างของวิธีทำการตลาดออนไลน์เพื่อสร้างลูกค้า เช่น:
- เต๊นท์รถยนต์ที่ให้ผู้เยี่ยมชมทดลองขับก่อนตัดสินใจเซ็นต์สัญญา
- กล่องเคเบิ้ลทีวีที่ให้ผู้ใช้งานทดลองใช้บริการสามเดือนแรกในราคาลด 50%
- ฟิตเนสที่เปิดให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกรายเดือนเข้าร่วมคลาสออกกำลังกายโดยจ่ายเป็นครั้งๆ
ถึงแม้ว่าราคาของข้อเสนอสำหรับขั้นตอนนี้อาจจะสูงเพียงแค่หลักร้อยและอาจไม่ถึงพันบาท…
แต่เมื่อคนหนึ่งคนกลายเป็นลูกค้าของธุรกิจของคุณแล้ว เขาก็จะซื้อสินค้าและบริการอื่นๆที่มีราคาสูงขึ้น หรือซื้อซ้ำจากคุณโดยอัตโนมัติ หากเขาพอใจกับสิ่งที่ซื้อไปจากคุณครั้งแรก
ขั้นตอนที่ 4: Delight
คุณมีลูกค้าที่จ่ายเงินให้กับคุณแล้ว ขั้นตอนถัดไปก็คือการทำให้แน่ใจว่าเขาพอใจกับสินค้าและบริการที่ซื้อจากคุณไป… เพื่อให้เขาไว้ใจคุณมากขึ้นจนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ จนถึงขั้นที่เขากล้าจะบอกต่อธุรกิจของคุณให้กับคนรู้จัก
ในขั้นตอนนี้หากลูกค้าของคุณไม่ชอบสิ่งที่ซื้อไป เขาก็อาจจะไม่ซื้ออะไรจากคุณอีกเลย
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คุณจำเป็นต้องใส่ใจกับผลตอบรับที่ได้จากลูกค้าแต่ละคน เพื่อให้คุณสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของตัวเองได้
และหากเกิดข้อผิดพลาดที่ทำให้ลูกค้าของคุณไม่พอใจกับสิ่งที่ซื้อไป คุณก็ควรที่จะตามแก้ไขเพื่อทำให้เขาได้รับในสิ่งที่คาดหวัง…
ยิ่งลูกค้าพอใจกับสิ่งที่ซื้อไปจากคุณมากเท่าไร เขาก็จะยิ่งรู้สึกดีกับธุรกิจของคุณมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้เขากล้าซื้อสินค้าและบริการอื่นๆมากขึ้น และวงจรนี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำๆภายใน Customer Jouney อย่างต่อเนื่อง
นั่นหมายความว่าในขั้นตอนของการสร้างลูกค้าคุณอาจจะไม่ได้กำไรตั้งแต่ครั้งแรก (หรือแม้กระทั่งขาดทุน)… แต่เมื่อคุณนำลูกค้ามาสู่ขั้นตอนนี้ได้แล้ว กำไรก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะคุณมีลูกค้าที่ซื้อซ้ำ และพร้อมที่จะจ่ายเงินซื้อในราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้เมื่อคุณมีลูกค้าที่จงรักภักดีกับแบรนด์ของคุณ ลูกค้าเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนที่ช่วยโปรโมทธุรกิจของคุณอีกด้วย
ตัวอย่างของวิธีทำการตลาดออนไลน์เพื่อสร้างยอดซื้อซ้ำและลูกค้าบอกต่อ เช่น:
- เจ้าของร้านกาแฟที่จ้างกราฟิกดีไซเนอร์ให้ออกแบบโลโก้ธุรกิจชอบผลงานการออกแบบ จึงตัดสินใจจ้างทำเมนูและนามบัตรด้วย
- หญิงวัยทำงานที่ทดลองใช้บริการเทรนเนอร์ส่วนตัว 2 ชั่วโมงแล้วตัดสินใจสมัครคอร์ส 30 ชั่วโมง
- นักศึกษาใช้บริการร้านอาหารแล้วตัดสินใจสมัครสมาชิกเพื่อเป็นลูกค้าประจำ
เพื่อที่จะสร้างความไว้ใจลูกค้ามากขึ้นและทำให้เกิดการซื้อซ้ำ… คุณจำเป็นต้องมีช่องทางในการติดตามเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำได้ด้วย Email Marketing, Retargeting Campaign, ระบบ CRM เป็นต้น
เมื่อคุณทราบแล้วว่าลูกค้าเป้าหมายของคุณจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทั้งหมดนี้ สิ่งถัดมาที่คุณจะต้องทำก็คือการวางแผนเพื่อสร้างแคมเปญการตลาดออนไลน์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกค้าแต่ละคนก้าวผ่านแต่ละขั้นตอนและยกระดับการตัดสินใจ
แคมเปญการตลาดออนไลน์
การจะทำให้ธุรกิจของคุณสามารถเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นลูกค้าที่ชื่นชอบธุรกิจของคุณ สิ่งที่คุณต้องมีก็คือ “แคมเปญ”
และเนื่องจากคุณไม่สามารถทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นลูกค้าทันทีได้ คุณจึงจำเป็นต้องมีแคมเปญการตลาดออนไลน์มากกว่าหนึ่งแคมเปญ เพื่อให้แต่ละแคมเปญทำหน้าที่ในแต่ละขั้นตอนของการยกระดับการตัดสินใจลูกค้า
เมื่อคุณสามารถวางแผนการสำหรับแต่ละขั้นตอนได้อย่างครบถ้วน ทุกแคมเปญก็จะทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องและธุรกิจของคุณก็จะมีกระบวนการในการเปลี่ยนคนแปลกหน้าเป็นลูกค้าอย่างสมบูรณ์
ที่สำคัญไปกว่านั้น การสร้างกระบวนนี้จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการตรวจสอบและหาว่าส่วนไหนของกระบวนการทั้งหมดนี้ควรถูกปรับปรุง ซึ่งจะทำให้คุณสามารถแก้ไขได้เป็นจุดและได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ต้องการ
แคมเปญการตลาดที่นำลูกค้าจากขั้น Attract ไป Convert
ตัวอย่าง:
- คอนเทนต์: วีดีโอแนะนำธุรกิจ
- ช่องทางการเข้าถึง: Facebook Ads
- ผลลัพธ์ที่ต้องการ: ให้ลูกค้าติดตามเพจธุรกิจ
นี่เป็นแคมเปญแรกสุดสำหรับธุรกิจที่ไม่เพิ่งเปิดตัวและต้องการทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ในแคมเปญนี้ธุรกิจสามารถเริ่มต้นด้วยการสร้างวีดีโอแนะนำธุรกิจ เพื่อดึงดูดลูกค้าซึ่งยังไม่รู้จักกับสินค้าและบริการได้ให้เข้ามารู้จักและคุ้นเคยกับธุรกิจมากขึ้น โดยธุรกิจใช้ Facebook Ads เป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า เป็นต้น
เมื่อธุรกิจสามารถดึงดูดคนแปลกหน้าให้รับชมวีดีโอได้แล้ว ธุรกิจก็สามารถที่จะเสนอให้ลูกค้าติดตามเพจ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าและบริการ
แคมเปญการตลาดที่นำลูกค้าจากขั้น Convert ไป Close
ตัวอย่าง:
- คอนเทนต์: บทความให้ความรู้
- ช่องทางการเข้าถึง: Google Organic
- ผลลัพธ์ที่ต้องการ: ให้ลูกค้ารับส่วนลด 50% สำหรับบริการครั้งแรก
นี่เป็นตัวอย่างแคมเปญสำหรับธุรกิจที่เริ่มมีคนรู้จักและมีผู้ติดตามแล้ว และต้องการเริ่มต้นสร้างยอดขายและฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น
ในแคมเปญนี้ธุรกิจอาจจะเขียนบทความให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการ หรือบทความเปรียบเทียบแบรนด์ของตัวเองกับคู่แข่งลงบนเว็บไซต์ เพื่อให้ลูกค้าที่กำลังค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมบน Google ได้รับข้อมูลที่ตนเองต้องใช้ประกอบการตัดสินใจ
และเพื่อให้ธุรกิจสามารถยกระดับการตัดสินใจของลูกค้าได้ ธุรกิจอาจจะนำเสนอส่วนลด 50% สำหรับการใช้บริการครั้งแรก หรือให้ลูกค้าทดลองใช้บริการครั้งแรกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
แคมเปญการตลาดที่นำลูกค้าจากขั้น Close ไป Delight
ตัวอย่าง:
- คอนเทนต์: โปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าเก่า
- ช่องทางการเข้าถึง: อีเมล
- ผลลัพธ์ที่ต้องการ: ให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ
นี่เป็นตัวอย่างแคมเปญสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างยอดซื้อซ้ำจากฐานลูกค้าปัจจุบัน
ในแคมเปญนี้ธุรกิจสามารถส่งอีเมลหาลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าไปแล้ว เพื่อนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษในแต่ละเดือน ซึ่งจะทำให้เกิดยอดขายที่มากขึ้นได้
เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นคนที่รู้จักและคุ้นเคยกับธุรกิจเป็นอย่างดี การนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆให้กับลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าและบริการไปแล้ว ย่อมทำให้เกิดยอดขายง่ายกว่าลูกค้าซึ่งเป็นคนแปลกหน้านั่นเอง
สิ่งที่ควรทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญการตลาดออนไลน์
ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายๆคนไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดออนไลน์คิอ มักจะสร้างแคมเปญขึ้นมาเพียงแค่หนึ่งแคมเปญและคาดหวังว่าลูกค้าซึ่งคนแปลกหน้าจะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการทันที
การสร้างลูกค้าและยอดขายจากออนไลน์คือ “การเดินทาง” ของลูกค้าคุณจากจุดที่เขาไม่เคยรู้จักคุณมาก่อน ไปจนถึงจุดที่เขาตัดสินใจซื้อและคุ้นเคยกับแบรนด์ของคุณเป็นอย่างดี
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะใช้ช่องทางใดในการเข้าถึงลูกค้า สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงเสมอก็คือ Customer Journey… เพราะนี่จะเป็นพื้นฐานทั้งหมดที่กำหนดทิศทางในการทำการตลาดออนไลน์ของคุณ รวมไปถึงว่าแคมเปญแต่ละแคมเปญของคุณจะมีหน้าตาอย่างไร
ทั้งหมดนี้ก็คือกระบวนการที่จะทำให้ธุรกิจของคุณสร้างลูกค้าจากออนไลน์เพิ่มขึ้นได้ ทีนี้เรามาพูดถึงขั้นตอนในการเริ่มต้นกันครับ
ขั้นตอนการทำการตลาดออนไลน์
อย่างที่คุณได้ทราบไปแล้วว่า การตลาดออนไลน์คือการทำให้ผู้คนเข้ามารู้จักธุรกิจและกลายเป็นลูกค้าของคุณด้วยการใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์
สิ่งที่คุณทำทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ตซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์, แคมเปญ, โฆษณา, วีดีโอ หรืออะไรก็ตาม ก็นับเป็นการทำการตลาดออนไลน์ทั้งสิ้น…
ในส่วนนี้ผมอยากจะแบ่งมันออกเป็นหมวดหมู่ย่อยๆ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจขั้นตอนการทำการตลาดออนไลน์ได้ดีขึ้น และสามารถสร้างแคมเปญได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ดังนี้
- Content Marketing
- SEO – Search Engine Optimization
- SEM – Search Engine Marketing
- Social Media Marketing
- Pay-per-click Advertising
- Email Marketing
สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญที่อยู่ภายในแคมเปญต่างๆ และทำให้กระบวนการเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นลูกค้าของคุณเป็นไปอย่างราบรื่น
เรามาเริ่มต้นกันที่สิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นองค์ประกอบของทุกๆแคมเปญที่คุณจะสร้างขึ้นมา นั่นก็คือ “คอนเทนต์”
Content Marketing
คอนเทนต์คือสารที่คุณสื่อออกไปให้กับลูกค้าเป้าหมายในรูปแบบต่างๆ เช่น บทความ, วีดีโอ, เสียง, รูปภาพ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกค้ารู้จักคุณได้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการที่เขาจะรู้สึกหรือจดจำแบรนด์ของคุณอย่างไร
เนื่องจากเป้าหมายของคุณก็คือการทำให้ผู้คนเข้ามารู้จักกับธุรกิจและกลายเป็นลูกค้า… คุณจำเป็นที่จะต้องใช้คอนเทนต์ในการสื่อสารกับลูกค้าของคุณ
ด้วยเหตุผลนี้เอง Content Marketing จึงเป็นหัวข้อที่สำคัญของการทำการตลาดออนไลน์ เพราะมันทำให้คุณสามารถสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง และนำเสนอสิ่งที่เขากำลังต้องการจริงๆในแต่ละระดับของการตัดสินใจของ Customer Jouney
ขั้นตอนการทำ Content Marketing สำหรับแคมเปญการตลาดออนไลน์สามารถแบ่งได้ 3 ระดับดังนี้

Top of the funnel (TOFU)
คนที่ไม่เคยรู้จักธุรกิจของคุณมาก่อน จะไม่สามารถซื้อสินค้าและบริการของคุณได้เลย หากเขาไม่รู้ว่าคุณมีตัวตนอยู่ หรือธุรกิจของคุณจะสามารถช่วยแก้ปัญหาอะไรให้กับเขา
คุณไม่สามารถคาดหวังว่าคนแปลกหน้าจะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่ครั้งแรกที่เขารู้จักกับคุณ…
ดังนั้นในขั้นตอนแรกสุดของการทำ Content Marketing ก็คือการทำให้ลูกค้าเป้าหมายของคุณรู้ตัวว่าเขากำลังมีปัญหาอะไร หรือเขากำลังต้องการสินค้าและบริการอะไรที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับเขา
นี่เป็นขั้นตอนของการสร้าง “ความสนใจ” ให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักธุรกิจของคุณมากขึ้น ด้วยคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ เช่น:
- บทความ
- วีดีโอ
- โพสต์บน Social Media
- Ebook
- Infographics
คอนเทนต์ที่คุณนำเสนออาจจะเป็นคอนเทนต์ที่ให้ความรู้ หรือคอนเทนต์ในลักษณะอื่นๆที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณสนใจ
เนื่องจากเป้าหมายของคอนเทนต์ใน TOFU นี้ก็คือการสร้างความสนใจและดึงกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามารู้จักกับธุรกิจของคุณเท่านั้น… คุณจึงต้องมีคอนเทนต์ที่ใช้ทำให้ลูกค้าของคุณยกระดับการตัดสินใจเพิ่มขึ้น และรู้จักกับสินค้าและบริการของคุณเพิ่มเติมด้วย…
Middle of the Funnel (MOFU)
ในขั้นตอนนี้ เมื่อลูกค้าเป้าหมายของคุณรู้ถึงปัญหาที่เขามีและรู้แล้วว่าสินค้าและบริการของคุณน่าจะข่วยแก้ปัญหาของเขาได้อย่างไร… คุณก็จะต้องสนับสนุนเขาไปสู่การตัดสินอีกขั้นหนึ่ง
เป้าหมายหลักของการทำ Content Marketing สำหรับลูกค้าที่มีระดับการตัดสินใจอยู่ในขั้น MOFU ก็คือการทำให้เขากลายเป็น “ผู้สนใจ” (Lead)
คุณรู้แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายนี้เริ่มมีความสนใจในธุรกิจของคุณ เพราะเขาเพิ่งแสดงให้คุณเห็นความต้องการของเขา ด้วยการให้ความสนใจกับคอนเทนต์ที่คุณนำเสนอไปก่อนหน้านี้…
ดังนั้นเพื่อทำให้เขามีความต้องการในสินค้าและบริการของคุณมากขึ้น คุณสามารถที่จะเริ่มยื่นข้อเสนอต่างๆที่จะทำให้เขาได้เริ่มกลายเป็นลูกค้าที่จ่ายเงินให้กับคุณ เช่น:
- คูปองส่วนลด
- วีดีโอแสดงวิธีการใช้งานสินค้า
- คู่มือที่เป็นประโยชน์
- โปรแกรมทดลอง
- การให้คำปรึกษา
สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ลูกค้ารู้จักสินค้าและบริการของคุณมากขึ้น และทำให้เขาแน่ใจว่าธุรกิจของคุณคือตัวเลือกที่เหมาะสมก่อนคู่แข่ง เพราะเขาได้ประโยชน์จากสิ่งที่คุณมอบให้
Bottom of the Funnel (BOFU)
ลูกค้าของคุณรู้แล้วว่าเขามีปัญหาอะไร, เขาต้องการสินค้าและบริการมาช่วยแก้ปัญหา, และเขารู้ว่าธุรกิจของคุณคือหนึ่งในตัวเลือกที่เขาสามารถใช้ในการแก้ปัญหาได้…
เป้าหมายหลักของการทำ Content Marketing สำหรับลูกค้าที่กำลังมีความพร้อมที่จะซื้อก็คือ “การทำให้เขาซื้อ” ด้วยการมอบคอนเทนต์ที่จะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
คอนเทนต์ต่างๆที่จะช่วยให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น:
- รีวิวจากลูกค้าคนอื่นๆ
- สินค้าตัวอย่าง
- โบรชัวร์เปรียบเทียบราคา
- โปรโมชั่นพิเศษ
- สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าใหม่
สิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญสำหรับลูกค้าในระดับ BOFU มีเพียงอย่างเดียวคือ ทำให้แน่ใจว่าทุกคนที่กำลังสนใจสินค้าและบริการของคุณตัดสินใจซื้อและกลายเป็นลูกค้า
ทั้งหมดนี้ก็เป็น 3 ขั้นตอนง่ายๆของการทำ Content Marketing
เนื่องจากลูกค้าของคุณใช้เหตุผลและมีกระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นขั้นตอน หากคุณนำเสนอคอนเทนต์อย่างเป็นลำดับในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการตัดสินใจของเขา คุณก็จะสามารถเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นลูกค้าได้ไม่ยากเลย
แต่ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เมื่อคุณทำ Content Marketing อย่างถูกวิธี… นั่นคือคุณกำลังทำ SEO ไปในตัวและทำให้ลูกค้าหาธุรกิจของคุณเจอได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว
SEO (Search Engine Optimization)
สิ่งหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงมากที่สุดในการทำการตลาดออนไลน์ ก็คือ การจะทำอย่างไรให้เว็บไซต์ถูกแสดงขึ้นมาในอันดับแรกๆ เมื่อลูกค้าค้นหาสินค้าและบริการ
และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุผลหนึ่งที่หลายๆคนต้องการให้เว็บไซต์ของตัวเองอยู่ในอันดับแรกๆของผลการค้นหาก็เนื่องจากว่า ยิ่งเว็บไซต์แสดงผลในอันดับที่สูงมากขึ้นเท่าไร ธุรกิจนั้นก็ยิ่งมีโอกาสสร้างลูกค้าและยอดขายมากขึ้นเท่านั้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ SEO เข้ามามีบทบาทกับการทำการตลาดออนไลน์นั่นเอง
แต่เนื่องจาก SEO เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน หากอธิบายง่ายๆ…
SEO หรือ Search Engine Optimization ก็คือ กระบวนการในการปรับแต่งและพัฒนาเว็บไซต์ทั้งด้านเทคนิคและคอนเทนต์ให้เซิจเอนจิ้น (เช่น Google) เลือกแสดงเว็บไซต์ของคุณก่อนเว็บไซต์อื่นๆ เมื่อกลุ่มเป้าหมายของคุณเลือกใช้คำค้นหาที่คุณต้องการ
การปรับแต่งสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องตามหลัก SEO จะช่วยให้เซิจเอนจิ้นสามารถเข้าใจและมองเห็นเว็บไซต์ของคุณได้ดีขึ้น และเลือกจัดอันดับการแสดงผลของคุณไว้สูงกว่าเว็บไซต์อื่นๆที่ไม่ได้ทำ SEO
ทั้งนี้การทำ SEO สามารถถูกแบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ๆดังนี้:
- โครงสร้างและเทคนิค – มุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ด้านเทคนิคและปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อเซิจเอนจิ้นโดยเฉพาะ
- คอนเทนต์ – มุ่งเน้นไปที่การสร้างคอนเทนต์คุณภาพเพื่อให้ผู้ใช้งานได้ประโยชน์มากที่สุด
คุณจำเป็นต้องทำทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไปเพื่อให้คุณมีเว็บไซต์ที่เซิจเอนจิ้นมองเห็นได้ ในขณะที่ผู้ใช้งานซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายก็ได้รับคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์จากเว็บไซต์ของคุณ
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การทำ SEO ของคุณเป็นไปอย่างยั่งยืนก็คือ “คอนเทนต์”
และหากคุณให้ความสำคัญกับคอนเทนต์เป็นอันดับแรก ด้วยการสร้างคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายของคุณ, คอยอัพเดทอย่างต่อเนื่อง, และโปรโมทคอนเทนต์ให้คนมองเห็นมากขึ้น คุณก็แทบไม่ต้องกังวลกับส่วนที่เหลือเลย
การทำ SEO ให้เว็บไซต์ติดหน้าแรก
เซิจเอนจิ้นมีหน้าที่หลักคือ “ตอบคำถาม” ที่ผู้ค้นหาถามโดยเลือกแสดงผลเว็บไซต์ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับคำค้นหาและตรงกับสิ่งที่ผู้ค้นหาต้องการมากที่สุด
ทั้งนี้ Google เลือกแสดงผลเว็บไซต์โดยเรียงลำดับตามคะแนนซึ่งมาจาก 200 กว่าปัจจัย เช่น:
- เว็บไซต์นี้มีคีย์เวิร์ดที่คุณค้นหาหรือไม่
- มีคีย์เวิร์ดใน URL หรือ Title ของเว็บไซต์หรือไม่
- เนื้อหาเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดนั้นหรือไม่
- เนื้อหาภายในเว็บไซต์มีคำที่มีความหมายคล้ายๆกันหรือเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดหรือไม่
- เว็บไซต์คุณภาพเป็นอย่างไร
- ค่า PageRank ของเว็บไซต์เป็นอย่างไร
- เว็บไซต์มีลิงค์อื่นๆออกไปจำนวนเท่าไร
- คุณภาพลิงค์เหล่านั้นเป็นอย่างไร
- และอื่นๆอีกมากมาย
ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่ Google กำหนด เว็บไซต์ต่างๆจะถูกประมวลผลด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (Algorithms) และจัดอันดับคะแนนโดยรวม จากนั้น Google จะแสดงผลการค้นหาออกมาให้กับคุณโดยเรียงเว็บไซต์ตามคะแนนที่ได้
ดูซับซ้อนพอสมควรใช่มั้ยครับ?
แต่สิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นสำหรับคุณก็คือ การนึกถึงเสมอว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณต้องการอะไร
เข้าใจพฤติกรรมของผู้ค้นหา
สิ่งที่หลายๆคนมักจะทำพลาดสำหรับการเริ่มต้นทำ SEO ก็คือพยายามปรับแต่งเว็บไซต์มากเกินไปหรือกังวลเกี่ยวกับปัจจัยอื่นๆที่ถูกกำหนดโดยเซิจเอนจิ้นมากกว่าผู้อ่านหรือผู้ค้นหา
เนื่องจากเซิจเอนจิ้นมีหน้าที่เพียงแค่แสดงผลการค้นหาที่สอดคล้องและดีที่สุดกับผู้ค้นหา…
แม้ว่าคุณจะรู้ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเว็บไซต์ทั้งหมดและพยายามปรับแต่งเว็บไซต์ให้ผ่านเงื่อนไขนั้นๆ เพื่อให้เซิจเอนจิ้นคิดว่าเว็บไซต์ของคุณดีและเหมาะสมจะแสดงในอันดับแรกๆ…
แต่หากเซิจเอนจิ้นคิดว่าเว็บไซต์ของคุณไม่สามารถตอบโจทย์ของผู้ค้นหาได้ คุณก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการทำ SEO อยู่ดี
กลับกันหากเว็บไซต์ของคุณสามารถตอบโจทย์ผู้ค้นหาได้ อีกทั้งยังปรับแต่งได้ถูกต้องตามหลักการ เว็บไซต์ของคุณก็สามารถแสดงในอันดับแรกๆของการค้นหาได้ไม่ยากเลย
ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าใจพฤติกรรมของผู้ค้นหาจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในการทำอันดับเว็บไซต์… นี่การค้นหา 3 ประเภทหลักๆบนเซิจเอนจิ้นที่คุณควรทราบ:
- คำค้นหาที่บ่งบอกความต้องการ
การค้นหาประเภทนี้ผู้ค้นหาจะใช้คำค้นหาที่บ่งบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น “จองตั๋วเครื่องบิน”, “เช่าคอนโด”, “ซื้อรถยนต์มือสอง” เป็นต้น
- คำค้นหาที่เป็นการสอบถามข้อมูล
การค้นหาประเภทนี้จะถูกใช้เมื่อผู้ค้นหาต้องการอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพิ่มเติม เช่น “รีวิวที่พักเชียงใหม่”, “ไอโฟน 8 ดีมั้ย?”, “วิธีทำพายบลูเบอร์รี่” เป็นต้น
- คำค้นหาเว็บไซต์ต่างๆ
การค้นหาประเภทนี้ผู้คนหาจะใช้คำค้นหาที่เป็นชื่อของเว็บไซต์หรือแบรนด์เป็นหลัก เช่น Facebook, Google Map, Pantip เป็นต้น
หากเซิจเอนจิ้นเป็นมนุษย์… คำถามที่มันถามตัวเองตลอดเวลาก็คือ “เว็บไซต์ที่กำลังจะแสดงผลขึ้นมาให้ผู้ค้นหาคือสิ่งที่ผู้ค้นหาต้องการหรือไม่?”
คุณเองก็ควรทำแบบเดียวกันด้วยการนึกอยู่เสมอว่า หากลูกค้าของคุณนึกถึงสินค้าหรือบริการของธุรกิจคุณ เขาจะค้นหาด้วยคำว่าอะไร และคุณจะทำให้เว็บไซต์ของคุณตอบคำถามและเป็นประโยชน์กับเขาที่สุดได้อย่างไร
เมื่อคุณทราบหลักการพื้นฐานแล้ว คำถามต่อมาก็คือ “คุณจะทำให้เซิจเอนจิ้นเลือกแสดงผลเว็บไซต์ของคุณก่อนเว็บไซต์อื่นๆได้อย่างไร?”
On-page SEO
ทุกๆการค้นหาจะต้องเริ่มต้นด้วย “คำค้นหา” หรือที่เราเรียกกันว่า “คีย์เวิร์ด”
คีย์เวิร์ดเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆที่คุณต้องให้ความสำคัญ…
ทั้งนี้ก็เพราะเซิจเอนจิ้นมีวิธีการของตัวเองเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาภายในเว็บไซต์ของคุณได้ดีที่สุด เพื่อที่มันจะสามารถประเมินได้ว่าควรแสดงเว็บไซต์ของคุณก่อนเว็บไซต์อื่นหรือไม่ มันจึงใช้คีย์เวิร์ดเป็นเครื่องชี้ทาง
อาจกล่าวได้อีกอย่างว่า การใช้คีย์เวิร์ดจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เซิจเอนจิ้นหาคุณเจอได้ง่ายขึ้น… และคีย์เวิร์ดนี้เองก็มีบทบาทในการทำ On-page SEO เป็นอย่างมาก
Keyword Research
การทำ SEO เริ่มต้นด้วยการทำ Keyword Research (การวิเคราะห์คีย์เวิร์ด) เพราะนี่คือคำค้นหา ที่ผู้ใช้งานแต่ละคนใช้เพื่อหาข้อมูลที่ตัวเองต้องการ
เพื่อให้เว็บไซต์ของคุณแสดงก่อนคู่แข่งและแสดงต่อกลุ่มเป้าหมาย คุณต้องวางแผนว่าจะเลือกใช้คีย์เวิร์ดใดบ้างสำหรับการทำอันดับ SEO…
ซึ่งเราสามารถแบ่งกลุ่มของวิธีการเลือกคีย์เวิร์ดออกเป็น 2 แบบกว้างๆคือ:
- Long-tail Keyword: คีย์เวิร์ดที่มีความเฉพาะเจาะจงซึ่งประกอบไปด้วยคำหรือกลุ่มคำอย่างน้อย 3-5 คำ การเลือกคีย์เวิร์ดประเภทนี้มักจะมีการแข่งขันที่ต่ำ อีกทั้งยังทำให้คุณได้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแลกเปลี่ยนด้วยจำนวนผู้ค้นหาที่น้อยลง
- Short-tail Keyword: ตรงกันข้ามกับคีย์เวิร์ดแบบ Long-tail… นี่คือคำค้นหาที่เป็นคำแบบกว้างๆเพียงแค่ 1-2 คำเท่านั้น คีย์เวิร์ดประเภทนี้จะเป็นคำทั่วๆไปซึ่งมีจำนวนผู้ค้นหาเยอะและการแข่งขันสูง
วิธีการทำ SEO ที่ดีก็คือการใช้คีย์เวิร์ดทั้งสองประเภทนี้ร่วมกันในเว็บไซต์ เพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างผู้เข้าชมที่มีจำนวนเหมาะสมและมีคุณภาพ
ทั้งนี้คุณภาพของผู้เข้าชมเว็บไซต์จะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อ Conversion Rate ซึ่งเป็นการกระทำต่างๆที่เป็นผลลัพธ์ที่ธุรกิจต้องการจากผู้เข้าชมนั่นเอง
กล่าวคือ… คุณไม่ได้ต้องการเพียงแค่ผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่เข้ามาและออกไปเท่านั้น แต่เป็นผู้เข้ามาชมเว็บไซต์ที่เข้ามาอ่านหรือรับชมคอนเทนต์จริงๆ และแสดงให้คุณเห็นว่าเขาสนใจธุรกิจของคุณด้วยการตัดสินใจซื้อ, ลงทะเบียน, โทรศัพท์ติดต่อคุณ, แอดไลน์ เป็นต้น
เครื่องมืออย่าง Ubersuggest และ Keyword Planner สามารถช่วยคุณในกระบวนการวิเคราะห์คีย์เวิร์ดนี้ได้ และเมื่อคุณได้คีย์เวิร์ดที่ต้องการแล้ว… เราก็จะนำคีย์เวิร์ดเหล่านั้นมาปรับแต่งบนเว็บไซต์ในขั้นตอนถัดไป
Title Tag & Meta Description
ทุกครั้งที่กลุ่มเป้าหมายของคุณทำการค้นหาบนเซิจเอนจิ้น เขาจะเห็นเว็บไซต์ต่างๆแสดงขึ้นมา
สิ่งที่แสดงอยู่บนผลการค้นหาของแต่ละเว็บไซต์ก็คือ Title Tag และ Meta Description ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้ค้นหาคนนั้นเลือกคลิกเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ

การตั้งค่า Title Tag และ Meta Description ด้วยการใช้คีย์เวิร์ดที่คุณได้จากขั้นตอน Research จะเป็นการเน้นย้ำกับเซิจเอนจิ้นว่าเนื้อหาของเว็บไซต์คุณนั้นเกี่ยวกับอะไร, คุณต้องการทำอันดับคีย์เวิร์ดใด, อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ค้นหารู้สึกว่าเว็บไซต์ของคุณมีข้อมูลที่เขากำลังมองหา
ดังนั้นการตั้ง Title Tag และ Meta Description ที่ดีนั้นควรจะประกอบไปด้วยคีย์เวิร์ดสัก 2-3 คำ รวมทั้งอ่านได้ง่ายและไม่ยาวจนเกินไปเพื่อให้แสดงผลได้อย่างเหมาะสมบนหน้าการค้นหา
การที่คุณใช้วิธีการนี้จะช่วยให้ผู้ค้นหาคลิกเข้าชมเว็บไซต์ของคุณมากขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสในการแสดงอันดับเว็บไซต์ที่สูงขึ้น…
นอกเหนือไปจากการใช้คีย์เวิร์ดที่คุณได้มาในการเขียนคอนเทนต์ที่ตรงกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ, การตั้งค่า Title Tag และ Meta Desciption แล้ว…
คุณยังสามารถใช้มันในโครงสร้าง URL ซึ่งจะช่วยให้เซิจเอนจิ้นเข้าใจเว็บไซต์ของคุณได้ดียิ่งขึ้น
ขั้นตอนถัดมาสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในขั้นตอนของการทำ SEO ก็คือการทำให้เว็บไซต์สามารถแสดงผลได้อย่างเหมาะสมบนทุกอุปกรณ์
การรองรับการแสดงผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile-friendliness)
ปัจจัยนี้มีความสำคัญมากในปัจจุบันเนื่องจากผู้คนหันไปใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่กันมากขึ้น… ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต
ทั้งนี้ในมุมมองของเซิจเอนจิ้นหากมีการทำการค้นหาผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่แล้วเว็บไซต์ไม่รองรับการแสดงผลที่ดี นั่นย่อมทำให้ผู้ใช้งานไม่สะดวกกับการค้นหาข้อมูลที่ตัวเองต้องการ
การรองรับการแสดงผลนี้จึงมีผลอย่างมากต่อการทำ SEO และเซิจเอนจิ้นมักจะเลือกเว็บไซต์ที่รองรับการแสดงผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่นี้ให้มีอันดับที่ดีกว่าเสมอ

ดังนั้นในกระบวนการของการสร้างเว็บไซต์ คุณควรระลึกไว้เสมอว่าเว็บไซต์ของคุณจะต้องสามารถแสดงผลบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ดีไม่ต่างจากโน้ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์
ความเร็วในการโหลด
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญสำหรับการทำ SEO ก็คือความเร็วในการโหลดเว็บไซต์ของคุณ
ทั้งนี้เนื่องจากหากเว็บไซต์ของคุณใช้เวลาในการโหลดที่นานเกินไป ผู้ค้นหาก็อาจจะปิดเว็บไซต์คุณทิ้งไปก่อนที่จะได้อ่านคอนเทนต์…
ซึ่งหากสิ่งนั้นเกิดขึ้น เซิจเอนจิ้นก็จะเริ่มมองว่าเว็บไซต์ของคุณมีคุณภาพต่ำและไม่เหมาะกับผู้ใช้งานนั่นเอง
คุณสามารถตรวจสอบคุณภาพความเร็วในการโหลดเว็บไซต์ได้จาก Pagespeed Insights เพื่อหาว่ามีอะไรอีกหรือไม่ที่คุณสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ เพื่อให้เว็บไซต์มีความเร็วในการโหลดเร็วขึ้น เช่น การบีบอัดไฟล์ภาพให้มีขนาดเล็กลง, หรือการใช้โฮสต์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อคุณใส่ใจกับความเร็วในการโหลดของเว็บไซต์ ผู้เข้าชมก็จะอยู่บนเว็บไซต์ของคุณนานขึ้น
ตรงนี้จะส่งผลให้เว็บไซต์ของคุณมีอันดับที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่ม Conversion Rate เพราะคุณไม่เสียผู้เข้าชมไปฟรีๆจากการที่เขารอเว็บไซต์ที่โหลดช้าไม่ไหวนั่นเอง
HTTPS/SSL
สำหรับเซิจเอนจิ้นแล้วความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก HTTPS จึงถูกนำเข้ามาเป็นปัจจัยที่ใช้ในการประเมินคุณภาพของเว็บไซต์ด้วย
อย่าลืมทำให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ของคุณแสดงผลเป็น HTTPS นำหน้าชื่อเว็บไซต์ แทนที่จะเป็น HTTP เพราะนอกเหนือไปจากการทำให้เซิจเอนจิ้นไว้ใจเว็บไซต์ของคุณมากขึ้น ผู้ใช้งานก็จะใช้งานเว็บไซต์ของคุณได้อย่างสบายใจว่าข้อมูลของเขาจะไม่รั่วไหลเช่นกัน

ทั้งนี้ผู้ให้บริการโฮสติ้งรายใหญ่ๆมักมีบริการเพิ่มเติมด้าน SSL นี้มาให้อยู่แล้ว หรือหากไม่มีคุณก็สามารถติดตั้ง SSL ให้กับเว็บไซต์ด้วยตัวเองผ่าน Cloudflare ได้เช่นกัน
หลังจากที่คุณติดตั้ง SSL แล้วโดเมนของคุณจะเปลี่ยนจาก HTTP เป็น HTTPS ทันที
Off-Page SEO
สิ่งที่เราเพิ่งพูดถึงกันไปในหัวข้อ On-Page SEO ก็คือการปรับแต่งทุกอย่างที่อยู่บนเว็บไซต์ของคุณ
Off-Page SEO ก็คือด้านตรงข้ามของ On-page SEO ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นไปที่การปรับแต่งอื่นๆซึ่งอยู่นอกเหนือจากเว็บไซต์ของคุณนั่นเอง
การทำ Off-page SEO นี้มีความสำคัญเนื่องจากจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและเครดิตให้กับเว็บไซต์เพื่อให้เซิจเอนจิ้นทราบว่ามีผู้คนมากมายชอบเว็บไซต์ของคุณ
สิ่งที่คุณสามารถทำได้ในส่วนของ Off-page SEO เพื่อให้เว็บไซต์แสดงในอันดับที่สูงขึ้นประกอบไปด้วย:
ลิงค์ (Links/Backlinks)
แม้ว่าจะมีปัจจัยอื่นๆมากมายที่นำมาประเมินคุณภาพของว็บไซต์ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Backlink เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการทำ Off-Page SEO
การที่เว็บไซต์ของคุณเป็นที่นิยม มีผู้ค้นมากมายชื่นชอบ มีความน่าเชื่อถือ ย่อมหมายถึงจะมีลิงค์มากมายจากเว็บไซต์อื่นๆชี้เข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณ
ตรงนี้เองจะเป็นสัญญาณบ่งบอกเซิจเอนจิ้นว่าเว็บไซต์ของคุณมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่นิยมเพียงใด ซึ่งการที่เว็บไซต์ของคุณได้รับการพูดถึงในเว็บไซต์อื่นๆนี้ ก็เปรียบเสมือนคะแนนโหวต Popular ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่คุณควรระวังก็คือ… แม้จะมีลิงค์มากมายจากเว็บไซต์อื่นๆชี้มาที่เว็บไซต์ของคุณนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์ของคุณจะน่าเชื่อถือเสมอไปเพราะเซิจเอนจิ้นจะพิจารณาคุณภาพของเว็บไซต์เหล่านั้นที่ลิงก์มาหาคุณด้วย
หากคุณมีลิงค์มากมายจากเว็บไซต์ที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับเนื้อหาเว็บไซต์ของคุณ เซิจเอนจิ้นก็อาจตัดสินว่าคุณได้ทำการสแปมลิงค์และควรจะลดคะแนน SEO ของคุณลง
แต่ในขณะเดียวกันหากเว็บไซต์อื่นๆที่ลิงค์มามีคุณภาพสูงและมีความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว เซิจเอนจิ้นก็จะมองว่าคุณได้รับคะแนนโหวตจากเว็บไซต์นี้มีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งหมายถึงเว็บไซต์ของคุณเองก็น่าจะมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง และส่งผลให้คะแนน SEO ของเว็บไซต์คุณสูงขึ้น
ตัวชี้วัดคุณภาพของลิงค์สำหรับเซิจเอนจิ้นได้แก่:
- จำนวน – ยิ่งคุณมีจำนวนลิงค์จากเว็บไซต์อื่นมากเท่าไรยิ่งดี
- คุณภาพ – ยิ่งเว็บไซต์อื่นที่ลิงค์มาที่เว็บไซต์ของคุณมีความน่าเชื่อถือหรือคุณภาพมากเท่าไรยิ่งดี
- ความเกี่ยวข้อง – ลิงค์ที่คุณได้รับมาจากเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของคุณมากเพียงใด
- ระยะเวลา – ลิงค์เหล่านั้นมีระยะเวลาในการสร้างนานเพียงใด ทั้งนี้เนื่องจาก Google ไม่ต้องการให้คุณจ่ายเงินเพื่อซื้อลิงค์จากเว็บไซต์อื่นๆนั่นเอง อีกทั้งการได้รับลิงค์จากเว็บไซต์อื่นๆอย่างสม่ำเสมอยังเป็นสัญญาณบอกเซิจเอนจิ้นอีกด้วยว่าเว็บไซต์ของคุณเป็นที่นิยมและมีคอนเทนต์ที่เป็นปัจจุบัน
หากคุณต้องการเพิ่ม Backlink ให้กับเว็บไซต์ ลองติดต่อเว็บไซต์อื่นๆที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันกับธุรกิจคุณ หรือมีคอนเทนต์คล้ายคลึงกัน เพื่อให้เขาพูดถึงเว็บไซต์ของคุณก็สามารถทำได้เช่นกัน
Anchor Text
การที่เว็บไซต์อื่นๆลิงค์มาที่เว็บไซต์ของคุณ… ลิงค์เหล่านั้นอาจเป็นชื่อโดเมนหรือเป็นเพียงข้อความสั้นๆก็ได้
Anchor Text ก็คือข้อความที่สามารถคลิกได้และนำผู้คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณ ซึ่งการที่ลิงค์จากเว็บไซต์อื่นใช้ Anchor Text ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดที่ถูกต้องก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการทำอันดับของเว็บไซต์ได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคุณภาพของเว็บไซต์อื่นๆที่ลิงค์มาที่เว็บไซต์ของคุณนั้นค่อนข้างมีความสำคัญ…
แม้ว่าคุณจะมีลิงค์มากมายที่เข้ามาและมี Anchor Text ที่มีคีย์เวิร์ดที่ต้องการแต่คุณจะไม่สามารถทำอันดับได้หากเว็บไซต์ที่ลิงค์มามีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของคุณ เช่น การที่เว็บไซต์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มีลิงค์มาจากเว็บไซต์ขายของเล่นเด็ก เป็นต้น
ดังนั้นอย่าลืมให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ของเว็บไซต์ที่คุณจะสร้าง Backlink ด้วย
การแชร์บนโซเชียล
การที่เว็บไซต์ของคุณถูกพูดถึงบ่อยๆบน Social Media อย่าง Facebook, Twitter หรือ Google+ จะสามารถช่วยเพิ่มคะแนน SEO ให้กับคุณได้เช่นกัน
ทั้งนี้แม้ว่าเซิจเอนจิ้นจะมองลิงค์จากโซเชียลแตกต่างจากลิงค์เว็บไซต์ทั่วไป แต่หลักการก็ยังเหมือนเดิมเสมอนั่นคือ จำนวนการแชร์เว็บไซต์ของคุณมีมากน้อยเพียงใดและใครเป็นคนแชร์เว็บไซต์ของคุณ
เนื่องจากเซิจเอนจิ้นมองการแชร์บนโซเชียลเป็นสัญญาณที่บอกว่าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาคุณภาพ อย่าลืมที่จะโปรโมทเว็บไซต์ของคุณบน Social Media ทุกครั้งที่คุณมีคอนเทนต์หรือบทความใหม่ๆ
ยังมีปัจจัยอื่นๆมากมายซึ่ง Google นำมาวัดคะแนนและประเมินเว็บไซต์ของคุณ แต่แม้ว่านี่จะเป็นเพียงพื้นฐานสำหรับการทำ Off-page SEO การทำตามคำแนะนำข้างต้นก็จะสามารถทำให้เว็บไซต์ของคุณสามารถมีอันดับที่ดีขึ้นได้อย่างชัดเจนแน่นอน
ขั้นตอนถัดมา เรามาเพิ่มประสิทธิภาพด้านการถูกมองเห็นบนเซิจเอนจิ้นด้วย SEM กันครับ
SEM (Search Engine Marketing)
เนื่องจาก SEO เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่อที่จะเห็นผลลัพธ์ (อาจจะอย่างน้อย 3 เดือนถึง 1 ปีหากคุณทำทุกอย่างถูกต้อง)…
ดังนั้นแทนท่ีจะรอดูผลลัพธ์ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร คุณสามารถที่จะจ่ายเงินเพื่อทำให้เว็บไซต์ของคุณแสดงขึ้นมาบนเซิจเอนจิ้นได้ทันทีเมื่อลูกค้าทำการค้นหา
SEM หรือ Search Engine Marketing ก็คือด้านตรงข้ามของการทำ SEO นั่นเอง
กล่าวคือ SEO เป็นกระบวนการในการทำให้เว็บไซต์ของคุณแสดงผลขึ้นมาแบบออร์แกนิค (ไม่เสียเงิน) ในขณะที่ SEM เป็นการทำให้เว็บไซต์แสดงผลขึ้นมาด้วยการจ่ายเงินให้กับเซิจเอนจิ้น
อาจเรียกได้ว่านี่เป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุดที่จะทำให้คุณได้ลูกค้า เพราะธุรกิจที่ลงโฆษณาบนเซิจเอนจิ้น จะสามารถแสดงผลในอันดับที่สูงกว่าออแกร์นิค ซึ่งหมายถึงคุณจะได้ผู้เข้าชมที่มีคุณภาพจำนวนมากเช่นกัน

ขั้นตอนการทำ SEM
ในการทำการตลาดช่องทางอื่นๆเช่นการตลาดแบบออฟไลน์… คุณจำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเป็นหลักหลายๆหมื่นหรือหลายๆแสนสำหรับการเริ่มต้น เพื่อให้โฆษณาของคุณแสดงให้กับคนจำนวนมากที่ไม่ได้สนใจสินค้าและบริการของคุณเลย (เช่น ป้ายโฆษณาบนทางด่วน, ใบปลิว, โทรทัศน์ เป็นต้น)
แต่สำหรับการทำ SEM อย่าง Google Ads แล้ว คุณสามารถกำหนดงบประมาณของคุณได้ตามต้องการ และจ่ายเงินเมื่อมีคนคลิกโฆษณาเท่านั้น
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายของคุณจะขึ้นอยู่กับคีย์เวิร์ดที่คุณเลือก… บางคีย์เวิร์ดอาจจะมีราคาแค่ไม่กี่บาท… ในขณะที่บางคีย์เวิร์ดอาจจะมีราคาสูงถึงหลักหลายร้อยหรือพันบาท
เนื่องจากคุณจำเป็นต้องเสียเงินให้กับ Google เพื่อสร้างคนเข้าชมเว็บไซต์…
วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในการทำ SEM นี้ก็คือการสร้างยอดขายให้ได้มากกว่าค่าโฆษณาที่คุณจ่ายออกไป ซึ่งสามารถทำได้ด้วยขั้นตอนต่อไปนี้
เริ่มต้นด้วยสินค้าและบริการ
คุณไม่สามารถที่จะสร้างยอดขายได้เลยหากธุรกิจของคุณไม่มีสินค้าและบริการให้กับลูกค้า…
ซึ่งการทำ SEM โดยไม่ขายสินค้าและบริการใดๆจะเป็นช่องทางที่เร็วที่สุดที่คุณจะทำให้คุณเสียเงินจำนวนมากโดยไม่ทันตั้งตัว
นั่นหมายความว่า SEM จะไม่เหมาะกับธุรกิจของคุณเลยหากคุณเพียงแค่ต้องการให้คนเข้ามารู้จักธุรกิจของคุณมากขึ้นด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ฟรี และไม่ได้คิดจะขายสินค้าและบริการใดๆ…
เลือกคีย์เวิร์ด
เช่นเดียวกันกับการทำ SEO คีย์เวิร์ดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะกำหนดความสำเร็จแคมเปญ SEM ของคุณ
เนื่องจาก SEM คือการทำการตลาดบนเซิจเอนจิ้น… คุณจำเป็นต้องทราบว่าคีย์เวิร์ดใดเป็นคีย์เวิร์ดที่มีแนวโน้มจะสร้างยอดขายให้กับธุรกิจ และเลือกคีย์เเวิร์ดเหล่านั้นมาใช้สำหรับการเริ่มต้นแคมเปญ
คุณสามารถใช้เครื่องมือ Keyword Planner ภายในแอคเคาท์ Google Ads เพื่อวิเคราะห์คีย์เวิร์ดด้วยหลักการเดียวกับการทำ SEO

ทั้งนี้สิ่งที่คุณต้องใส่ใจเพิ่มขึ้นมาก็คือ “ค่าคลิก”
โดยเคล็ดลับก็คือการเลือกคีย์เวิร์ดที่ค่าคลิกไม่สูงเกินไป, การแข่งขันต่ำ, และเป็นคีย์เวิร์ดที่บ่งบอกพฤติกรรมของผู้ค้นหาว่าเขากำลังมองหาสินค้าและบริการของคุณ
สร้าง Landing Page
เมื่อได้คีย์เวิร์ดที่ต้องการแล้ว ขั้นตอนถัดมาก็คือการสร้าง Landing Page ซึ่งเป็นหน้าเว็บไซต์สำหรับนำเสนอสินค้าและบริการของคุณ
ข้อผิดพลาดหนึ่งที่ทำให้หลายๆคนไม่ประสบความสำเร็จกับการทำ SEM ก็คือใช้หน้าเว็บไซต์หลัก (Homepage) มาเป็น Landing Page ในแคมเปญโฆษณา
ทั้งนี้ก็เพราะลูกค้าของคุณกำลังต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าและบริการของคุณ แต่หน้าเว็บไซต์หลักโดยทั่วไปของธุรกิจมักจะไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ผู้เข้าชมจำนวนมากเข้ามาในเว็บไซต์และออกไปโดยไม่ได้ตัดสินใจติดต่อคุณเข้ามาและซื้อสินค้าและบริการใดๆ
ดังนั้นอย่าลืมที่จะสร้างหน้า Landing Page ที่ให้ข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมายของคุณอย่างครบถ้วน
ตั้งค่า Conversion Tracking
คุณไม่ต้องการที่จะเสียค่าโฆษณาไปอย่างเปล่าประโยชน์โดยไม่สามารถสร้างลูกค้าและยอดขายกลับมาถูกมั้ยครับ?
เพื่อที่จะทำให้คุณสามารถวัดผลลัพธ์ของแคมเปญได้อย่างถูกต้อง คุณจำเป็นที่จะต้องตั้งค่า Conversion Tracking ภายในแอคเคาท์ของคุณ
การตั้งค่า Conversion Tracking นี้จะทำให้คุณสามารถวัดผลได้ว่า ค่าโฆษณาที่คุณจ่ายออกไปสามารถสร้างลูกค้าและยอดขายกลับมาได้เป็นจำนวนเท่าไร…
ซึ่งหากคุณขาดขั้นตอนนี้ไป คุณก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแคมเปญของคุณประสบความสำเร็จหรือไม่
เมื่อคุณทำทั้งหมดนี้ครบแล้ว ขั้นตอนที่เหลือก็คือการสร้างแคมเปญและโฆษณาขึ้นมาภายในแอคเคาท์ของคุณ และนำผลลัพธ์ที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้คุณประสบความสำเร็จกับการทำ SEM ได้
หากคุณต้องการเริ่มต้นใช้งาน Google Ads เพื่อสร้างลูกค้าให้กับธุรกิจ คุณอาจจะสนใจคู่มือเล่มนี้ซึ่งผมอธิบายวิธีการทั้งหมดโดยละเอียด
มาถึงตรงนี้ คุณได้ทราบแล้วว่าจะใช้เซิจเอนจิ้นในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณอย่างไร…
แต่สิ่งที่ทำให้แคมเปญการตลาดออนไลน์ของคุณสามารถสร้างลูกค้าได้รวดเร็วขึ้นไปอีกก็คือ Social Media Marketing
Social Media Marketing
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำการตลาดออนไลน์ก็คือ “การสื่อสาร”…
ซึ่งเป็นเรื่องของวิธีที่คุณสื่อสารกับลูกค้าเพื่อให้เขาได้รับในสิ่งที่ต้องการและยกระดับการตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง
ด้วยเหตุผลนี้เอง Social Media จึงเป็นช่องทางอีกช่องทางหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่ทำให้คุณสามารถสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และทำให้เขาเริ่มรู้จักคุณ, ชอบคุณ, และไว้ใจคุณ จนเขากล้าที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการจากคุณ
หลายๆธุรกิจมักจะมองข้ามช่องทางนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า คนที่กำลังใช้ Social Media อย่าง Facebook หรือ Instagram ไม่น่าจะกำลังมองหาสินค้าและบริการใดๆ และใช้งานมันเพื่อความสนุกกับเพื่อนและครอบครัวเท่านั้น…
แต่หากคุณใช้ประโยชน์จาก Social Media ในการทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง นี่จะเป็นช่องทางที่เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการสร้างลูกค้า
ในปัจจุบัน Social Media ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกก็คือ Facebook ซึ่งผู้ใช้งานทั้งหมดทั่วโลกมีสูงถึง 2.5 พันล้านคน (ปี 2020)
และหากนับในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ผู้ใช้งาน Facebook ก็มีจำนวนมากถึงประมาณ 50 ล้านคน

อาจเรียกได้ว่านี่เป็นช่องทางที่ทำให้ธุรกิจของคุณเข้าถึงลูกค้าซึ่งเป็น “ใครก็ได้” เพราะเกือบทุกคนล้วนมีแอคเคาท์ Facebook ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี การเริ่มทำ Social Media Marketing อาจไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่เห็น…
เพราะคุณไม่สามารถที่จะสร้างเพจธุรกิจ, เขียนโพสต์อะไรก็ได้ทุกๆวัน, และสร้างยอดขายจำนวนมากได้ทันที
ดังนั้นในหัวข้อนี้ผมอยากจะเน้นไปที่พื้นฐานและวิธีการเบื้องต้นเพื่อให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอย่าง Facebook ในการทำ Social Media Marketing ได้มากที่สุด
และนี่คือขั้นตอนในการทำ Social Media Marketing สำหรับธุรกิจ
Social Profile
คุณจะไม่สามารถสร้างลูกค้าจาก Social Media ได้เลยหากธุรกิจของคุณไม่มีตัวตน และไม่มีใครมองเห็น
ดังนั้นขั้นตอนแรกสุดของการทำ Social Media Marketing ก็คือการสร้าง Social Profile ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของคุณเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและถูกมองเห็นได้
คุณจำเป็นที่จะต้องมีเพจธุรกิจ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณโดยตรง
สิ่งนี้จะทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าธุรกิจของคุณมีตัวตนจริงๆ และเขาสามารถที่จะเข้าถึงคุณได้ทุกเมื่อ หากต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ, แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของคุณ, หรือแม้กระทั่งการขอรับความช่วยเหลือต่างๆหลังบริการ เป็นต้น
Social Listening
เมื่อธุรกิจของคุณเริ่มมีตัวตนบน Social Media แล้ว ผู้คนก็จะเริ่มตอบสนองกับแบรนด์ของคุณ
เป้าหมายของขั้นตอนนี้ก็คือการรับฟังเสียงตอบรับต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณทราบว่า…
- ผู้คนพูดถึงธุรกิจของคุณอย่างไร
- ผู้คนพูดถึงธุรกิจของคู่แข่งคุณอย่างไร
- ผู้คนรู้สึกอย่างไรหลังจากที่ซื้อสินค้าและบริการจากคุณ
- มีอะไรเกิดขึ้นใน Social Media ที่จะส่งผลต่อธุรกิจของคุณหรือไม่
- พฤติกรรมของลูกค้าที่อยู่บน Social Media เป็นอย่างไร
- คู่แข่งพูดถึงธุรกิจของคุณอย่างไร
และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งการรับฟังเสียงตอบรับเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาธุรกิจให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง และสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่ลูกค้าประทับใจได้
Social Followers
เป้าหมายในการใช้ Social Media ของคุณก็คือการสร้างลูกค้า…
แต่คุณจะทำแบบนั้นไม่ได้เลยหากลูกค้ายังไม่ได้รู้จักคุณ, ชอบคุณ, และไว้ใจคุณ
เพื่อให้ลูกค้ารู้จักคุณมากขึ้นจนเขาเริ่มไว้ใจและกล้าตัดสินใจซื้อจากคุณ คุณจำเป็นต้องสร้างผู้ติดตาม เพื่อให้คุณสามารถที่จะอัพเดทคอนเทนต์ใหม่ๆให้กับเขา และแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า ธุรกิจของคุณสามารถช่วยแก้ปัญหาที่เขากำลังมีอยู่ได้จริงๆ
อาจเป็นเรื่องยากหากคุณจะขายสินค้าและบริการให้กับคนแปลกหน้าซึ่งไม่ได้รู้จักคุณมาก่อน…
แต่หากเขากลายเป็นผู้ติดตามของคุณแล้ว และคุณสื่อสารกับเขาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความไว้ใจ การเสนอขายสินค้าและบริการเพื่อให้เขาซื้อก็จะไม่ใช่เรื่องยากเลย
ยิ่งคุณมาผู้ติดตามมากเท่าไร ธุรกิจของคุณก็จะ…
- มีลูกค้าที่มีส่วนร่วมกับโพสต์ของคุณมากขึ้น
- มีคนเข้าชมเว็บไซต์และรู้จักสินค้าและบริการมากขึ้น
- ทำให้ลูกค้ารายใหม่ๆเข้ามาหาได้ง่ายขึ้น
- มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเพราะลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย
- กลายเป็นผู้นำในอุตสากรรมและคนนึกถึงก่อนคู่แข่งเสมอ
ถึงแม้กระบวนการสร้างผู้ติดตามเพื่อให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้นนี้เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา…
แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ขาดไม่ได้เลยในการทำ Social Media Marketing เพราะผู้ติดตามเหล่านี้ก็คือคนที่จะกลายมาเป็นลูกค้าของคุณในอนาคตนั่นเอง
Social Selling
ตอนนี้คุณมีทั้ง Social Profile ซึ่งเป็นช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงคุณได้, คุณทราบแล้วว่าผู้คนรู้สึกกับธุรกิจของคุณอย่างไรผ่านการทำ Social Listening, คุณมีผู้ติดตามซึ่งเป็น Social Followers ซึ่งพร้อมจะซื้อสินค้าและบริการของคุณแล้ว…
ขั้นตอนสุดท้ายก็คือ Social Selling หรือการสร้างยอดขายจากคนที่เป็นผู้ติดตามนั่นเอง
เป้าหมายของคุณในขั้นตอนนี้ก็คือ:
- จะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนผู้ติดตามที่มีอยู่ให้กลายเป็นผู้สนใจ (Lead)
- จะทำอย่างไรเพื่อใช้ช่องทาง Social Media นี้ในการสร้างลูกค้ารายใหม่ๆหรือทำให้คนที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วกลับมาซื้อสินค้าและบริการซ้ำ
- จะทำอย่างไรให้ทั้งคนที่เป็นผู้ติดตามและลูกค้าของคุณชื่นชอบธุรกิจมากขึ้นจนอยากบอกต่อ
การที่คุณจะทำทั้งหมดนี้ได้ก็คือการสร้างคอนเทนต์ที่จะส่งกลุ่มเป้าหมายเข้าไปในกระบวนการสร้างลูกค้าของธุรกิจของคุณนั่นเอง
หากคุณต้องการสร้างผู้สนใจ — สร้างโพสต์ที่นำเสนอให้ผู้ติดตามคลิกเข้าชมเว็บไซต์ลงทะเบียนดาวน์โหลดคอนเทนต์สำหรับสมาชิก
หากคุณต้องการสร้างลูกค้าหรือสร้างการซื้อซ้ำ — สร้างโพสต์ที่ให้ผู้ติดตามเพจคลิกเข้าไปดูรายละเอียดของสินค้าและบริการในหน้า Sale Page
หากคุณต้องการสร้างการบอกต่อ — สร้างโพสต์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ติดตามแชร์และบอกต่อคนรู้จัก เพื่อลุ้นรับรางวัลพิเศษ
และแคมเปญอื่นๆอีกมากมายที่คุณจะสามารถทำได้จากผู้ติดตามที่มีอยู่
Pay-per-click advertising
ปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับคนที่ทำการตลาดออนไลน์ก็คือ การไม่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ (Traffic)
แต่จะเกิดอะไรขึ้น? หากคุณสามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย, ทำให้เขาสนใจในสิ่งที่คุณนำเสนอ, และทำให้เขาตัดสินใจกลายเป็นลูกค้าของคุณ…
ซึ่งคุณสามารถทำแบบนั้นได้ด้วย “การลงโฆษณาออนไลน์” นั่นเอง
Pay-per-click advertising หรือ PPC ก็คือการที่คุณจ่ายเงินให้กับแพลตฟอร์มโฆษณาต่างๆ (เช่น Facebook หรือ Google) เพื่อให้ผู้ใช้งานที่อยู่ในแพลตฟอร์มนั้น คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณ
ถึงแม้ว่าข้อดีของการทำการตลาดออนไลน์คือ มีวิธีการมากมายที่จะทำให้คุณสามารถสร้างลูกค้าได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ…
แต่ของทุกอย่างที่คุณจำเป็นต้องจ่ายเงินซื้อ ก็มักจะเป็นของที่มีคุณภาพดีกว่าเสมอ… ซึ่งผู้เข้าชมเว็บไซต์ก็ไม่ได้แตกต่างกัน
โดยปกติแล้วเราอาจแบ่งวิธีการสร้างผู้เข้าชมเว็บไซต์ออกได้เป็น 2 ประเภทคือ:
- แบบเสียเงิน – หรือที่เรียกว่า Paid Traffic
- แบบไม่ต้องเสียเงิน – หรือที่เรียกว่า Organic Traffic
นอกเหนือไปจากนี้แล้ว นี่คือความแตกต่างระหว่าง Traffic ทั้งสองประเภทนี้
Paid Traffic เปรียบเสมือนการที่คุณมีก๊อกน้ำและสายยาง ซึ่งทำให้คุณสามารถควบคุมทิศทางการไหลและความแรงของน้ำได้ คุณสามารถเปิดก๊อกน้ำนี้ได้ทุกเมื่อที่คุณต้องการ และปิดมันเมื่อคุณไม่ต้องการ
ในขณะเดียวกัน…
Organic Traffic เปรียบเสมือนการที่คุณรอใช้น้ำเมื่อมีฝนตก คุณไม่สามารถควบคุมปริมาณของน้ำฝนหรือทิศทางของมันได้ อีกทั้งคุณยังไม่รู้ว่ามันจะมามากน้อยขนาดไหน ซึ่งหมายถึงทุกอย่างไม่ได้อยู่ในความควบคุมของคุณ
ถึงแม้ว่าคุณจำเป็นที่จะต้องเสียเงินเพื่อสร้าง Paid Traffic แต่หากคุณเรียนรู้วิธีการใช้งานมันได้อย่างถูกต้อง คุณก็จะสามารถสร้างยอดขายกลับคืนมาเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่คุณเสียไปได้ไม่ยากเลย…
และนั่นหมายถึงการใช้ Paid Traffic ไม่ได้แตกต่างจากการใช้ Organic Traffic เลย เพียงแต่คุณเลือกที่จะใช้เงินหรือเวลาแลกมันมาเท่านั้น
ในหัวข้อก่อนหน้านี้คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Search Engine Marketing ไปแล้ว…
ซึ่งมันก็คือส่วนหนึ่งของ Pay-per-click advertising เพราะคุณจำเป็นที่ต้องจะต้องเสียเงินเพื่อสร้างผู้เข้าชมเว็บไซต์ แต่คุณก็สามารถที่จะควบคุมจำนวนได้ตามที่คุณต้องการนั่นเอง
แต่นอกเหนือไปจาก Google แล้ว ก็ยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆอีกมากมายที่คุณจะสามาถลงโฆษณาได้ เช่น Facebook, Instagram, YouTube, Twitter, Linkedin เป็นต้น
ขั้นตอนการทำ Pay-per-click Advertising
เนื่องจาก Pay-per-click Advertising ของแต่ละแพลตฟอร์มล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน…
ในส่วนนี้เราจะมาพูดถึงสองแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุด และเป็นแพลตฟอร์มที่คุณสามารถเริ่มต้นได้ง่ายที่สุด คือ Google และ Facebook
คุณสามารถที่จะใช้ทั้งสองแพลตฟอร์มนี้ในการเข้าถึงคนได้เกือบทุกคน ไม่ว่าลูกค้าของคุณจะเป็นใครก็ตาม…
อีกทั้งทั้งสองแพลตฟอร์มนี้ยังมีระบบการจัดการโฆษณาที่ค่อนข้างยืดหยุ่นและหลากหลาย ที่ทำให้คุณสามารถเลือกคนที่คุณอยากให้เห็นโฆษณาได้อย่างแม่นยำ
เรามาเริ่มต้นกันที่ Google Ads กันครับ
Google Ads
เซิจเอนจิ้นที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งก็คือ Google…
ด้วยเหตุผลที่ในแต่ละวันมีการค้นหาข้อมูลต่างๆบน Google เป็นพันล้านครั้ง จึงมีธุรกิจมากมายต้องการลงโฆษณาบนแพลตฟอร์มนี้เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองแสดงขึ้นมาเมื่อมีคนค้นหาสินค้าและบริการ

ในการลงโฆษณา Google Ads คุณจำเป็นที่จะต้องเลือกคำค้นหาและกำหนดราคาประมูลเพื่อแข่งขันกับผู้ลงโฆษณารายอื่นๆ และจ่ายเงินให้กับ Google ทุกครั้งที่โฆษณาของคุณถูกคลิก
ทั้งนี้ Google Ads เปิดโอกาสให้ผู้ลงโฆษณาสามารถแสดงโฆษณาของตัวเองได้ในหลายๆตำแหน่ง…
ซึ่งเราสามารถแบ่งประเภทของโฆษณาออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆตามตำแหน่งคือ Search Network และ Display Network
Search Network
โฆษณาประเภทเครือข่ายการค้นหาหรือ Search Network นี้คือโฆษณาในรูปแบบข้อความ ซึ่งจะแสดงขึ้นมาเมื่อผู้ใช้งานทำการค้นหาด้วยคำค้นหาที่คุณเลือกเอาไว้บนเซิจเอนจิ้นของ Google เองหรือเว็บไซต์เครือข่าย
ผลการค้นหาซึ่งเป็นโฆษณาจะแสดงขึ้นมาก่อนผลการค้นหาแบบออร์แกนิคเสมอ ซึ่งทำให้ธุรกิจที่ใช้ Search Network นี้ในการลงโฆษณามีข้อได้เปรียบในการเข้าถึงลูกค้าที่กำลังมองหาสินค้าและบริการ

เนื่องจากผู้ใช้งานที่กำลังค้นหาสินค้าและบริการบน Google มักจะมีระดับการตัดสินใจที่อยู่ในสถานะพร้อมซื้อมากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ…
นั่นเป็นเหตุผลที่ Google Ads มักจะมีราคาค่าโฆษณาที่สูงกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆเช่นเดียวกัน เพราะ Google Ads ทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึง “คนที่กำลังมองหาสินค้าและบริการ”
ค่าโฆษณาที่คุณจะต้องจ่ายให้กับ Google อาจมีราคาที่แตกต่างกันไปตั้งแต่หลักสิบบาทไปจนถึงหลักร้อยหรือพันบาท ขึ้นอยู่กับการแข่งขันในอุตสาหกรรมของคุณ หรือราคาของสินค้าและบริการ
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยิ่งคุณมีโอกาสสร้างยอดขายจากลูกค้าที่ทำการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดนั้นมากเท่าไร ค่าคลิกที่คุณจะต้องจ่ายก็จะแพงมากขึ้นเท่านั้น…
เพราะผู้ลงโฆษณาคนอื่นๆมักจะยินดีจ่ายเงินจำนวนมาก หากผู้คลิกโฆษณาคนนั้นกลายเป็นลูกค้าของธุรกิจนั่นเอง
Display Network
นอกเหนือไปจากเครือข่ายการค้นหาแล้ว Google ยังมีเครือข่ายดิสเพลย์ซึ่งเป็นตัวเลือกในการแสดงโฆษณาเป็นรูปภาพ (หรือข้อความ) อีกด้วย
สำหรับ Display Network นี้ โฆษณาของคุณจะแสดงบนเว็บไซต์ต่างๆซึ่งเป็นเครือข่ายของ Google เช่น เว็บไซต์ทั่วไปซึ่งสมัครพาร์ทเนอร์สำหรับแสดงโฆษณา, YouTube, Gmail เป็นต้น

ในส่วนของการเลือกว่าโฆษณาจะแสดงเมื่อใด คุณก็สามารถกำหนดได้ด้วยการเลือกแสดงโฆษณาบนเว็บไซต์ที่มีคอนเทนต์เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของคุณ หรือแม้กระทั่งการเลือกเว็บไซต์ที่คุณต้องการให้โฆษณาไปแสดงได้ทันที…
และคุณก็จะจ่ายเงินให้กับ Google เมื่อคนที่เข้าชมเว็บไซต์เหล่านั้นคลิกโฆษณาของคุณนั่นเอง
นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว การใช้ Display Network นี้ยังทำให้คุณสามารถใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Remarketing” ซึ่งเป็นการแสดงโฆษณาให้คนที่เคยเข้าชมเว็บไซต์ของคุณและออกไปแล้ว เห็นโฆษณาซ้ำๆและกลับมาที่เว็บไซต์ของคุณอีกครั้ง
Facebook Ads
โฆษณาบน Facebook จะมีความแตกต่างจาก Google ตรงที่ ผู้ใช้งานที่อยู่บนแพลตฟอร์มนั้นอาจไม่ได้กำลังมองหาสินค้าหรือบริการของคุณ
อาจเรียกได้ว่าการใช้ Facebook Ads เปรียบเสมือนการใช้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เพื่อโปรโมทธุรกิจ ซึ่งทำให้คุณสามารถแสดงโฆษณาให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เดินผ่านไปมาบน Newsfeed นั่นเอง
ทั้งนี้ข้อดีของการใช้ Facebook Ads ที่แตกต่างจากการลงโฆษณาแบบออฟไลน์อย่างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ก็คือ คุณสามารถเริ่มต้นได้ด้วยงบประมาณต่ำๆ (หลักร้อยบาทต่อวัน) แต่ยังสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากได้
และด้วยเหตุผลที่ Facebook มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานทุกคนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเพศ, อายุ, เบอร์โทรศัพท์, ความสนใจ, เพจที่ติดตาม, วีดีโอที่ชอบ และอื่นๆอีกมากมาย…
นั่นจึงทำให้การกำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับการแสดงโฆษณาด้วย Facebook Ads ค่อนข้างมีความแม่นยำมาก และทำให้คุณสามารถที่จะเข้าถึงคนที่มีโอกาสจะเป็นลูกค้าของธุรกิจคุณจริงๆ เช่น คุณสามารถเลือกให้โฆษณาของคุณแสดงกับเฉพาะคนที่เป็นผู้ชาย, อายุ 25-44 ปี, และมีความสนใจเกี่ยวกับดนตรี เป็นต้น
โฆษณาของคุณจะแสดงในรูปแบบโพสต์ที่มาจากโปรไฟล์เพจของคุณ และคุณสามารถเลือกตำแหน่งโฆษณาได้หลายๆตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น Newsfeed, Sidebar, Stories, Watch หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ที่เป็นเครือข่ายของ Facebook (ซึ่งคล้ายคลึงกับ Google Display Network)

การทำ Pay-per-click Advertising ด้วย Google และ Facebook จะทำให้คุณสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งสนใจสินค้าและบริการของคุณจริงๆ…
ทีนี้เรามาดูกลยุทธ์ในการทำโฆษณาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการใช้มันร่วมกับ Customer Journey กันครับ
Traffic Temperature
คุณได้ทราบไปแล้วว่า Paid Traffic สามารถทำให้คุณควบคุมจำนวนผู้สนใจและลูกค้าที่จะเข้ามาหาธุรกิจของคุณได้ตามต้องการ…
ดังนั้นคุณจึงสามารถแสดงโฆษณาได้ตรงกับความต้องการใน Customer Journey ของคนๆนั้นด้วยการแบ่งระดับความพร้อมในการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายดังนี้

Cold Traffic:
นี่คือกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เคยรู้จักกับธุรกิจของคุณมาก่อน หรือเป็นคนที่อยู่ในขั้น TOFU นั่นเอง
การใช้ Paid Traffic สำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเขาให้เข้ามารู้จักกับธุรกิจของคุณมากขึ้น (Attract) เพื่อที่คุณจะสามารถสร้างความคุ้นเคยและทำให้เขาอยากรู้จักกับสินค้าและบริการของคุณเพิ่มเติม
Warm Traffic:
นี่คือกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนที่รู้จักกับธุรกิจของคุณแล้ว แต่อาจจะยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการใดๆจากคุณ หรือก็คือคนที่อยู่ในขั้น MOFU
การใช้ Paid Traffic สำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำให้เขากลายเป็น “ผู้สนใจ” (Lead) เพื่อเป็นการตัดกรองเขาเข้าสู่กระบวนการถัดไปของการตัดสินใจซื้อ
Hot Traffic:
นี่คือกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนที่รู้แล้วว่าธุรกิจของคุณคือหนึ่งในตัวเลือกที่เขาสามารถใช้ในการแก้ปัญหาได้ และกำลังพิจารณาว่าเขาจะซื้อสินค้าและบริการจากคุณหรือไม่ ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในขั้นสุดท้ายคือ BOFU
การใช้ Paid Traffic สำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำให้เขาตัดสินใจง่ายขึ้นและกลายเป็นลูกค้าที่จ่ายเงินให้กับคุณ
เป้าหมายทั้งหมดของการใช้ Pay-per-click Advertising ก็คือการพากลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในระดับ Cold Traffic ก้าวผ่านแต่ละขั้นตอนไปจนถึง Hot Traffic ด้วยการใช้หลักการ ทำให้เขารู้จักคุณ, ชอบคุณ, และไว้ใจคุณ…
กล่าวโดยสรุป ขั้นตอนการทำ Pay-per-click Advertising ที่ได้ผลก็คือ การใช้โฆษณานเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามารู้จักกับธุรกิจก่อน จากนั้นสร้างแคมเปญ Remarketing เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับกลุ่มเป้าหมายนี้ด้วยการทำให้เขาเห็นโฆษณาของคุณซ้ำๆและได้ข้อมูลที่เขาต้องการจนครบ จนเขาพร้อมที่จะซื้อสินค้าและบริการจากคุณนั่นเอง
และเพื่อให้แคมเปญการตลาดออนไลน์ของคุณทำงานได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งสุดท้ายที่คุณจะขาดไม่ได้เลยก็คือการทำการตลาดออนไลน์ผ่านอีเมล
Email Marketing
ในการทำการตลาดออนไลน์ สิ่งที่มีค่าที่สุดและเป็นทรัพย์สินของธุรกิจคุณก็คือ “ลิสต์อีเมล” ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อของคนที่เป็นทั้งผู้สนใจและลูกค้าปัจจุบัน
ในขณะที่ Organic Traffic คือวิธีการสร้างคนเข้าชมเว็บไซต์ที่คุณไม่สามารถควบคุมได้…
และ Paid Traffic คือวิธีการสร้างคนเข้าชมเว็บไซต์ที่คุณสามารถควบคุมมันได้ ทั้งปริมาณและความเร็ว แต่มีต้นทุนที่คุณต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม…
อีเมลกลับเป็นวิธีการสร้างผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่คุณเป็นเจ้าของ ที่ทำให้คุณสามารถส่งคนเข้ามาที่เว็บไซต์และสร้างยอดขายได้ทุกเมื่อที่คุณต้องการ
วิธีการที่จะอธิบายความสำคัญของการทำการตลาดผ่านทางอีเมลแบบง่ายๆเป็นดังนี้ครับ
หากคุณมีลิสต์อีเมลผู้ที่สนใจสินค้าและบริการของคุณจำนวน 10,000 รายชื่อ และคุณส่งอีเมลเพื่อยื่นข้อเสนอให้กับคนหนึ่งหมื่นคนนี้…
มี 10% ที่ตัดสินใจเปิดอีเมลและคลิกเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ และจาก 10% นี้มี 1% ที่ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการราคา 2,500 บาท
นั่นหมายถึงคุณจะสามารถสร้างยอดขายได้ 25,000 บาทจากการส่งอีเมลเพียงครั้งเดียว
อย่างไรก็ดี การทำ Email Marketing ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการส่งอีเมลโปรโมชั่นหรือเสนอขายเพียงอย่างเดียว…
เพราะนั่นเป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุดที่จะทำให้คนเลิกติดตามและเปิดอีเมลของคุณเช่นกัน
Email Marketing จึงเป็นวิธีการทำการตลาดออนไลน์สำหรับการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับคนที่อยู่ในลิสต์ของคุณ เพื่อทำให้เขารู้จักและไว้ใจธุรกิจของคุณมากขึ้น และทำให้เขาสามารถตัดสินใจซื้อได้ทันทีเมื่อคุณยื่นข้อเสนอให้กับเขานั่นเอง
อีเมลเป็นช่องทางที่สำคัญมากช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คุณสามารถสร้างยอดขายได้ หากคุณรู้วิธีการใช้งานมันอย่างถูกต้อง…
ในการเริ่มต้นทำ Email Marketing คุณก็ต้องมีลิสต์อีเมลของคุณก่อน ซึ่งเริ่มต้นได้ดังนี้
เครื่องมือสำหรับการทำ Email Marketing
คุณจำเป็นต้องมีเครื่องมือสำหรับการส่งอีเมลให้กับผู้ใช้งานจำนวนมากในครั้งเดียว
ทั้งนี้ก็เพราะการส่งอีเมลจำนวนมากด้วยการใช้อีเมลฟรีอย่าง Gmail อาจทำให้อีเมลคุณตกไปอยู่ในกล่องสแปมหรือขยะได้…
อีกทั้งคุณยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆอย่างการจัดกลุ่มคนที่อยู่ในลิสต์, การตั้งเวลาส่งล่วงหน้า, การตั้งระบบตอบกลับอัตโนมัติ, หรือแม้กระทั่งการทำแคมเปญ Automation เพื่อส่งอีเมลตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานได้เลย
มีเครื่องมือหลายตัวที่คุณสามารถใช้สำหรับการทำ Email Marketing ได้ ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่ผมแนะนำก็คือ GetResponse เพราะมันสามารถทำได้เกือบทุกอย่างที่คุณต้องการสำหรับการทำการตลาดผ่านทางอีเมล

เริ่มต้นด้วย Lead Magnet
ในการเริ่มต้นสร้างลิสต์อีเมล คุณจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “Lead Magnet”
Lead Magnet นี้คือข้อเสนอที่คุณตั้งใจยื่นให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยแลกเปลี่ยนกับการที่เขาจะต้องให้ข้อมูลการติดต่ออย่างชื่อและอีเมลกับคุณเพื่อรับมัน
นี่คือตัวอย่างของ Lead Magnet ที่คุณสามารถใช้เพื่อเริ่มต้นสร้างลิสต์อีเมลได้:
- คู่มือ
- วีดีโอ
- เทมเพลต
- คูปอง
- แบบประเมิน
และอื่นๆอีกมากมายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณ
สิ่งสำคัญก็คือ Lead Magnet นี้จะต้องมีคุณค่ามากพอที่ทำให้เขารู้สึกว่าคุ้มค่ากับการให้อีเมลส่วนตัวของเขา

จากนั้นเมื่อกลุ่มเป้าหมายของคุณตัดสินใจลงทะเบียนรับ Lead Magnet นี้แล้ว คุณก็สามารถที่จะตั้งค่าระบบส่งอีเมลอัตโนมัติ เพื่อเป็นการต้อนรับพวกเขาเข้าสู่ลิสต์อีเมลของคุณ และเริ่มนำเสนอคอนเทนต์อื่นๆที่เป็นประโยชน์กับเขาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว
เมื่อคุณทำทุกอย่างอย่างถูกต้อง อีเมลก็จะเป็นเครื่องหนึ่งที่คอยสร้างลูกค้าให้กับธุรกิจของคุณอย่างอัตโนมัติเช่นเดียวกัน
Email Marketing กับ Customer Journey
การทำการตลาดผ่านทางอีเมลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำการตลาดออนไลน์ เพราะมันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้คุณสามารถพากลุ่มลูกค้าเป้าหมายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งของ Customer Journey ได้
คุณสามารถที่จะใช้มันกับเป้าหมายเหล่านี้:
- การสร้างแบรนด์
- การมีส่วนร่วม
- การสร้างผู้เข้าชมเว็บไซต์
- การสร้างผู้สนใจและลูกค้า
- การสร้างยอดขาย
- การสร้างยอดซื้อซ้ำ
- การสร้างการบอกต่อ
…ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญทั้งหมดของ Customer Journey
ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้ Email Marketing เป็นวิธีการทำการตลาดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพสูงก็เพราะ มันมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง
ไม่ว่าคุณใช้ช่องทางใดในการสร้างผู้เข้าชมเว็บไซต์ก็ตาม เป้าหมายที่สำคัญที่สุดอันดับแรกของการสร้างผู้เข้าชมเว็บไซต์ก็คือ “เก็บลิสต์อีเมล”…
เพราะเมื่อคุณมีลิสต์อีเมลของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว คุณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเสียเงินเพื่อสร้างผู้เข้าชมเว็บไซต์คนนั้นอีก รวมทั้งยังสามารถควบคุมการไหลของ Traffic ได้ว่าต้องการให้เขาไปในส่วนไหนของกระบวนการในการสร้างลูกค้าของคุณ

บทสรุป
มาถึงตรงนี้ คุณก็ได้เข้าใจวิธีการทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งทำให้คุณสามารถดึงดูดคนแปลกหน้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามารู้จักกับธุรกิจของคุณ และทำให้เขากลายเป็นลูกค้าที่จ่ายเงินให้กับคุณได้
สิ่งที่คุณได้เรียนรู้ไปในบทเรียนนี้เป็นพื้นฐานซึ่งเป็นแก่นที่สำคัญที่สุดของการทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งหากคุณนำสิ่งเหล่านี้ไปลงมือปฏิบัติ ธุรกิจของคุณก็น่าจะสามารถสร้างลูกค้าได้มากขึ้น
ผมหวังว่าคู่มือนี้จะช่วยให้คุณมีพื้นฐานที่มั่นคงและสามารถนำทักษะไปต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว
อย่าลืมที่จะฝึกฝนและพัฒนาความรู้ของคุณอย่างต่อเนื่อง แล้วคุณก็จะสามารถใช้การตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มลูกค้าและยอดขายให้กับธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่คุณต้องการ
สุดท้ายนี้ หากคุณต้องการให้ผมช่วยออกแบบแผนการตลาดออนไลน์และนำสิ่งที่คุณเพิ่งเรียนรู้ไปลงมือปฏิบัติกับธุรกิจของคุณ… คุณสามารถลงทะเบียนที่นี่ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย: https://bankchatchadol.com/talk/
เมื่อคุณลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ผมจะตรวจสอบข้อมูลของคุณและประเมินว่าสินค้าหรือบริการอะไรของผมน่าจะช่วยเหลือให้คุณสร้างลูกค้าและยอดขายเพิ่มขึ้นได้
แล้วคุยกันครับ!