คุณตัดสินใจที่จะสร้างเว็บไซต์สำหรับธุรกิจของตัวเองแล้วรึยังครับ?
หากคุณกำลังมีความคิดที่จะเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ เพื่อใช้สำหรับทำการตลาดออนไลน์และสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น เว็บไซต์จะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้คุณสามารถทำแบบนั้นได้
การเรียนรู้วิธีการสร้างเว็บไซต์ถือเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน เพราะมันจะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้เร็วกว่าคู่แข่ง และทำให้คุณสามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่อยู่บนโลกออนไลน์ได้มากขึ้น
ข่าวดีก็คือทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ทางด้านการเขียนโค้ดหรือการเขียนโปรแกรมมาก่อนเลย…
และเพื่อให้คุณเริ่มต้นได้เร็วที่สุด บทเรียนนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คุณเรียนรู้วิธีการสร้างเว็บไซต์ WordPress ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้คุณสร้างและปรับแต่งเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้พัฒนาหรือโปรแกมเมอร์
เราจะแบ่งขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress ออกเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ๆดังนี้:
- เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์
- สมัครโดเมนและโฮสติ้ง
- ติดตั้ง WordPress ให้เว็บไซต์พร้อมใช้งาน
- ปรับแต่งหน้าตาของเว็บไซต์
ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มต้นกันเลยครับ!
ขั้นตอนที่ 1:
เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์
เลือกแพลตฟอร์มที่จะใช้สร้างเว็บไซต์
สิ่งแรกที่คุณต้องทำเพื่อที่จะเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ก็คือเลือกว่าจะใช้แพลตฟอร์มอะไรในการสร้างเว็บของตัวเองขึ้นมา
แพลตฟอร์มนี้คือระบบจัดการข้อมูล (Content Management System; CMS) ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลทุกอย่างภายในเว็บไซต์ของคุณ เช่น ข้อความ, รูปภาพ, วีดีโอ, ไฟล์, โค้ด และทำให้คุณสามารถจัดการข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบ
แพลตฟอร์มที่ดีจะทำให้คุณสามารถสร้าง, ดูแล, รวมไปถึงจัดการเว็บไซต์ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่คุณจำเป็นที่จะต้องเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะกับธุรกิจของคุณมากที่สุด…
ทั้งนี้หากคุณเลือกใช้แพลตฟอร์มที่ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของคุณแล้ว เว็บไซต์ของคุณก็อาจมีปัญหาในภายหลัง และส่งผลให้คุณจำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์ด้วย CMS ใหม่ ซึ่งจะทำให้คุณเสียทั้งเงินและเวลาจำนวนมาก
คุณอาจจะเคยพบเห็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้คุณสามารถสร้างเว็บไซต์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่แพลตฟอร์มฟรีเหล่านี้อาจจะไม่เหมาะกับการสร้างธุรกิจระยะยาว… เพราะแพลตฟอร์มฟรีส่วนใหญ่มักจะมีข้อจำกัดในการใช้งาน ซึ่งทำให้คุณไม่สามารถปรับแต่งเว็บไซต์ได้อย่างเต็มที่ และในหลายๆครั้งอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของคุณ
นอกจากนี้แล้ว แพลตฟอร์มฟรีส่วนใหญ่ยังมักจะบังคับให้คุณใช้ Subdomain ซึ่งไม่ใช่ชื่อเว็บไซต์ของคุณจริงๆอีกด้วย (yourwebsite.freewebsite.com) ซึ่งหมายถึงเว็บไซต์ที่คุณสร้างขึ้นมาบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ใช่เว็บไซต์ที่คุณเป็นเจ้าของจริงๆ
ทั้งนี้แต่ละแพลตฟอร์มจะมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างกัน ความยากง่ายในการสร้างเว็บไซต์มักจะขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่คุณเลือก เพราะบางแพลตฟอร์มคุณแทบไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะด้าน HTML และ CSS เพื่อสร้างเว็บไซต์ให้มีหน้าตาสวยงามและตรงกับความต้องการของคุณเลย
หากคุณไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Coding และเป็นเพียงผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างเว็บไซต์สำหรับธุรกิจด้วยตัวเอง คุณสามารถเริ่มต้นด้วยการใช้ WordPress เป็น CMS ของเว็บไซต์คุณ
WordPress คืออะไร
WordPress คือระบบจัดการข้อมูล (Content Management System) หรือโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกประมาณ 30% ของเว็บไซต์ทั้งหมด
การใช้ WordPress เพื่อเป็นระบบจัดการข้อมูลสำหรับเว็บไซต์จะทำให้คุณสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลทุกอย่างและปรับแต่งเว็บไซต์ของคุณในที่ที่เดียว

ข้อดีหลักๆของ WordPress โดยเฉพาะสำหรับผู้เริ่มต้นก็คือใช้งานง่าย คุณไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนโค้ด HTML หรือ CSS มาก่อนเลย ซึ่งทำให้คุณสามารถสร้างเว็บไซต์พร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
หากพูดถึงประสิทธิภาพในการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress คุณสามารถใช้มันสร้างเว็บไซต์ในรูปแบบที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ เช่น เว็บไซต์ธุรกิจ, ร้านค้าออนไลน์, บล็อก, ระบบสมาชิก, Portfolio ซึ่งเป็นเหตุผลที่มันเหมาะกับทั้งสำหรับฟรีแลนซ์, ธุรกิจขนาดเล็ก, ธุรกิจขนาดกลาง, ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่
นอกจากนี้แล้วเว็บไซต์ที่สร้างด้วย WordPress ยังสามารถปรับแต่งได้หลากหลายรูปแบบ, มาพร้อมการแสดงผลแบบ Responsive ที่ปรับเปลี่ยนไปตามอุปกรณ์ของผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับเว็บไซต์ปัจจุบัน, และยังเปิดให้ใช้งานฟรีอีกด้วย
สร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress มีค่าใช้จ่ายเท่าไร?
ถึงแม้ว่า WordPress จะเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้คุณสามารถใช้งานได้ฟรี แต่ค่าใช้จ่ายของการสร้างเว็บไซต์ก็จะขึ้นอยู่กับเป้าหมาย, งบประมาณ, และความต้องการของคุณ
โดยปกติแล้วค่าใช้จ่ายของการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress สามารถถูกแบ่งออกได้ดังนี้:
- โดเมน
- โฮสติ้ง
- ธีม
- ปลั๊กอิน
โดเมนคืออะไร?
ในการสร้างเว็บไซต์ของตัวเอง ค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่คุณจะต้องเสียก็คือ “โดเมน”
โดเมนเป็นชื่อเว็บไซต์ของคุณ (www.yourwebsite.com) และเปรียบเสมือนที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้ผู้ใช้งานพิมพ์ที่อยู่นี้ลงไปในเบราเซอร์เพื่อเข้ามาสู่เว็บไซต์ที่คุณสร้างขึ้นมา
ค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปของโดเมนจะอยู่ที่ประมาณปีละ 400-600 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ผู้ให้บริการ
โฮสติ้งคืออะไร?
สิ่งถัดมาที่คุณจะต้องมีก็คือ “โฮสติ้ง” ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลทุกอย่างของเว็บไซต์คุณ
ทุกเว็บไซต์จำเป็นจะต้องมีโฮสติ้งเพื่อใช้สำหรับการเก็บข้อมูลและเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา เพื่อให้คนสามารถเข้าชมเว็บไซต์ได้
ค่าใช้จ่ายของโฮสติ้งขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการและแพ็คเกจที่คุณเลือก ซึ่งปกติแพ็คเกจเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 150-500 บาทต่อเดือน
ธีมคืออะไร?
ธีม (Theme) คือเทมเพลตของเว็บไซต์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการปรับแต่งและการแสดงผลของเว็บไซต์คุณ
โดยปกติแล้ว WordPress จะมาพร้อมกับธีมที่หลากหลายซึ่งสามารถใช้งานได้ฟรี แต่หากคุณต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับแต่งดีไซน์ของเว็บไซต์ คุณก็สามารถซื้อ Premium Theme มาใช้กับเว็บไซต์ของคุณ
ค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปของ Premium Theme จะอยู่ที่ประมาณ 1,000-3,000 บาท ซึ่งมีทั้งแบบที่จ่ายครั้งเดียวและจ่ายรายเดือนหรือรายปี
ปลั๊กอินคืออะไร?
ปลั๊กอิน (Plugin) คือสิ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและฟังก์ชั่นต่างๆของเว็บไซต์คุณ เช่น ระบบร้านค้า, แบบฟอร์ม, ปุ่มโทรออก, สไลด์โชว์ เป็นต้น
คุณสามารถเลือกติดตั้งปลั๊กอินที่คุณต้องการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติมซึ่ง WordPress มีให้คุณเลือกมากกว่า 50,000 ตัว แต่เช่นเดียวกันกับธีม หลายๆครั้งปลั๊กอินฟรีมักจะมีข้อจำกัดและคุณอาจต้องการซื้อปลั๊กอินเพิ่มเติมเพื่อให้เว็บไซต์ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น
ค่าใช้จ่ายของปลั๊กอินแต่ละปลั๊กอินจะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งหากคุณต้องการซื้อปลั๊กอินเสริมจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะเพิ่มขึ้นตามนั่นเอง
ด้วยเหตุผลนี้เอง ค่าใช้ทั้งหมดของการสร้างเว็บไซต์จึงขึ้นอยู่กับงบประมาณและความต้องการของคุณ แต่สำหรับการเริ่มต้น ค่าใช้จ่ายที่คุณจะต้องเตรียมก็คือส่วนของโดเมนและโฮสติ้งนั่นเอง
เทคนิคการตั้งชื่อโดเมน
โดเมนหรือชื่อเว็บไซต์จะเป็นสิ่งที่อยู่กับคุณไปยาวๆและคุณไม่ควรเปลี่ยนแปลงมันในภายหลังเพราะมันจะส่งผลกระทบหลายๆอย่างต่อธุรกิจของคุณ
ด้วยเหตุผลที่โดเมนเป็นชื่อที่ผู้คนจะจดจำ และเป็นสิ่งที่เซิจเอนจิ้นใช้ในการประเมินอันดับเว็บไซต์บนผลการค้นหา การเปลี่ยนแปลงในภายหลังอาจส่งผลให้ผู้ใช้งานที่เข้าเว็บไซต์ของคุณเป็นประจำหาเว็บไซต์ใหม่ของคุณไม่เจอ หรือทำให้เว็บไซต์ของคุณแสดงในอันดับที่ต่ำลงกว่าเดิม…
ดังนั้นการตั้งชื่อโดเมนควรทำอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าคุณใช้ชื่อที่ถูกต้องและจะไม่เปลี่ยนแปลงมันในภายหลัง
หากคุณเพิ่งเริ่มต้น คุณอาจตั้งชื่อโดเมนตามชื่อบริษัทหรือชื่อแบรนด์ของคุณเอง เช่น www.yourcompanyname.com
แต่หากคุณยังไม่แน่ใจว่าจะตั้งชื่อโดเมนว่าอะไรดี นี่คือคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการเริ่มต้น
- จำได้ง่ายและโดดเด่น
คำว่าจำได้ง่ายและโดดเด่นในที่นี้ก็คือ เมื่อมีคนพูดถึงโดเมนของคุณ เขาจะนึกถึงธุรกิจของคุณขึ้นมาเป็นอันดับแรก คุณควรหลีกเลี่ยงการตั้งชื่อโดเมนที่เป็นคำศัพท์กว้างๆเพราะอาจจะทำให้โดเมนของคุณไม่เป็นที่จดจำและยากต่อการสร้างแบรนด์ - อ่านได้ง่ายและไม่ยาวจนเกินไป
การตั้งชื่อโดเมนที่อ่านได้ง่ายและไม่ยาวจนเกินไปก็จะทำให้คนอื่นๆจำโดเมนของคุณได้ง่ายนั่นเอง ทั้งนี้ยังเป็นผลดีเมื่อมีคนนำเว็บไซต์ของคุณไปแชร์บนโซเชียลมีเดีย, การทำโฆษณาออนไลน์ และการทำ SEO อีกด้วย - เริ่มต้นที่ .com
แม้ว่าคุณจะสามารถตั้งชื่อโดเมนลงท้ายด้วย Extension อื่นๆ เช่น .net, .org, .co, .xyz แต่การเริ่มต้นที่ .com ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเนื่องจากเป็นโดเมนที่จำได้ง่ายและเป็นมาตรฐาน - หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องหมายขีด (-)
การใช้โดเมนที่มีเครื่องหมายขีด เช่น your-company-name.com อาจทำให้คนจำโดเมนของคุณผิดไปจากเดิมและพิมพ์ตกหล่น ซึ่งส่งผลให้เขาไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ของคุณได้
เมื่อคุณได้ชื่อโดเมนที่ต้องการแล้ว จดมันเอาไว้ในกระดาษก่อนแล้วเราจะมาจดทะเบียนกันในภายหลังพร้อมกับการสมัครโฮสติ้ง
โฮสติ้งสำหรับเว็บไซต์ WordPress
คุณเตรียมที่อยู่ของเว็บไซต์ซึ่งก็คือโดเมนเรียบร้อยแล้ว ถัดมาที่คุณต้องมีก็คือโฮสติ้งที่จะเป็นพื้นที่สำหรับใช้เก็บไฟล์, รูปภาพ, ข้อมูลต่างๆ และทำให้คนสามารถเข้าชมเว็บไซต์ของคุณได้
เนื่องจากเราไม่มีและไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ในอินเทอร์เน็ต การเช่าโฮสติ้งจึงเปรียบเสมือนกันเช่าที่ตั้งร้านค้าหรือออฟฟิศธุรกิจของเรานั่นเอง
การเลือกโฮสติ้งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะมันจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพเว็บไซต์ของคุณ ดังนั้นการเลือกโฮสติ้งจึงไม่ควรดูแค่เรื่องของราคาเป็นหลัก แต่ควรดูปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย
คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับโฮสติ้งที่ดีเป็นดังนี้:
- มีทีมงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือและติดต่อได้ง่าย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาของเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
- มีเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ระบบที่เป็นมาตรฐานและทันสมัย เพื่อรองรับการอัพเดทต่างๆที่เกิดขึ้นในอนาคต
- มีระบบจัดการหลังบ้านที่ง่ายต่อการใช้งานและสามารถติดตั้งเว็บไซต์ใหม่ได้ง่าย ถึงแม้ผู้ใช้งานจะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี
- มีบริการ SSL รวมอยู่ในแพ็คเกจเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานของเว็บไซต์ ซึ่งจำเป็นต่อการทำอันดับเว็บไซต์และการใช้เว็บไซต์สำหรับทำโฆษณาออนไลน์
- มีความเร็วในการเชื่อมต่อซึ่งจะส่งผลต่อระยะเวลาในการโหลดของเว็บไซต์ ยิ่งเว็บไซต์โหลดช้า เราก็จะยิ่งเสียโอกาสเพราะคนส่วนใหญ่มักไม่รอเว็บไซต์ที่โหลดช้า
ปัจจุบันผู้ให้บริการโฮสติ้งที่ผมใช้งานอยู่ก็คือ SiteGround ซึ่งทุกเว็บไซต์ของผมจะโฮสต์อยู่ที่นี่
หากคุณต้องการเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพและตั้งใจกับการใช้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือในการสร้างลูกค้าและยอดขายให้กับธุรกิจ ผมแนะนำให้คุณเลือก SiteGround เช่นเดียวกันเพราะนี่คือโฮสติ้งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นโฮสติ้งที่ดีที่สุด
1. SiteGround ถูกโหวตให้เป็นอันดับหนึ่งจากผลสำรวจ 34 โพล
ผลโหวตทั้งหมดนี้มาจากกลุ่มผู้พัฒนาเว็บไซต์ที่อยู่ใน Facebook ซึ่งแต่ละกลุ่มมีสมาชิกที่เป็นนักพัฒนามากกว่า 12,000 คน เมื่อนักพัฒนาเหล่านี้ถูกถามว่าผู้ให้บริการโฮสติ้งรายไหนดีที่สุด คำตอบที่ได้ก็คือ SiteGround

2. เว็บไซต์ที่โฮสอยู่บน SiteGround โหลดค่อนข้างเร็ว
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเร็วในการโหลดของเว็บไซต์มีส่วนสำคัญมากที่จะส่งผลโดยตรงต่อจำนวนการเข้าชม รวมไปถึงโอกาสในการสร้างลูกค้าและยอดขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเว็บไซต์มีผู้เข้าชมจำนวนมาก การที่เว็บไซต์โหลดช้าลงเพียงแค่ 1 วินาทีก็อาจหมายถึงจำนวนลูกค้าที่หายไปต่อเดือนมากกว่า 100 คน
การลงทุนใช้โฮสติ้งที่มีคุณภาพที่ทำให้เว็บไซต์ของคุณโหลดเร็วขึ้นคือการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างไม่ต้องสงสัยเลย
ด้านล่างนี้คือผลการทดสอบเว็บไซต์ BankChatchadol.com ซึ่งคุณกำลังอ่านอยู่จากเครื่องมือ PageSpeed Insights ของ Google

3. SiteGround ถูกแนะนำโดย WordPress และ Yoast
WordPress.org ที่เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดโลกเป็นพาร์ทเนอร์กับ SiteGround และแนะนำให้นี่เป็นหนึ่งในโฮสติ้งที่ตอบโจทย์ความต้องการของการสร้างเว็บไซต์ WordPress

นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว SiteGround ยังถูกแนะนำโดย Yoast ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาปลั๊กอินสำหรับการทำ SEO บนเว็บไซต์ WordPress ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 1 ล้านคนอีกด้วย ซึ่งหมายถึงเว็บไซต์ของคุณจะมีมาตรฐานการทำ SEO แบบเดียวกันกับเจ้าของปลั๊กอิน

เพียงแค่เหตุผล 3 ข้อนี้ก็น่าจะเพียงพอที่จะอธิบายว่า SiteGround เป็นหนึ่งในตัวเลือกของโฮสติ้งที่ดีที่สุด
คลิกที่นี่เพื่อสมัครใช้บริการโฮสติ้งของ SiteGround
หากคุณเพิ่งเริ่มต้น แพ็คเกจที่ผมแนะนำก็คือ “GrowBig” ซึ่งมีค่าบริการอยู่ที่เดือนละ $5.95 หรือ 200 บาท เพราะคุณสามารถสร้างเว็บไซต์ได้อย่างไม่จำกัด (จากราคาปกติเดือนละ $19.95 หรือ 700 บาท)
เมื่อคุณสมัครใช้บริการโฮสติ้งของ SiteGround สิ่งที่คุณจะได้รับประกอบไปด้วย:
- โฮสติ้งคุณภาพสูง,โหลดเร็ว, และมีทีมงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา
- สร้างเว็บไซต์ได้อย่างไม่จำกัด
- พื้นที่เว็บไซต์ 20GB (ซึ่งเกินเพียงพอเนื่องจากเว็บทั่วไปมักจะใช้เนื้อที่สูงสุดไม่เกิน 500MB)
- สามารถติดตั้ง WordPress ได้ภายใน 5 นาที
- มีระบบอัพเดท WordPress ให้เป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันอัตโนมัติ
- มีบริการ SSL โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม (ปกติปีละ 1500 – 3000 บาทต่อเว็บไซต์)
- สร้างอีเมลในชื่อโดเมนอย่างไม่จำกัด เช่น youremail@yourwebsite.com
- มีการสำรองข้อมูลทุกวันโดยอัตโนมัติ
- และอื่นๆอีกมากมาย
มาถึงตรงนี้ คุณมีความเข้าใจพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดไปเรามาจดโดเมนและสมัครโฮสติ้งเพื่อเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์กันได้เลยครับ
ขั้นตอนที่ 2:
สมัครโดเมนและโฮสติ้ง
เลือกแพ็กเกจโฮสติ้งของ SiteGround
การสมัครแพ็กเกจโฮสติ้งนี้คือการเช่าเซิร์ฟเวอร์สำหรับการเก็บข้อมูลต่างๆบนเว็บไซต์ และทำให้คนอื่นสามารถเข้าชมเว็บไซต์ของคุณได้ตลอดเวลา ซึ่งคุณสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. คลิกที่ปุ่มด้านล่างเพื่อไปที่ SiteGround:
https://bankchatchadol.com/go/siteground/
2. เลือก Managed WordPress Hosting และเลือกแพ็กเกจที่ต้องการ


คุณสามารถเลือกแพ็คเกจ StartUp หรือ GrowBig ก็ได้สำหรับการเริ่มต้น
ความแตกต่างหลักๆสำหรับ 2 แพ็คเกจนี้ก็คือด้วยแพ็คเกจ GrowBig คุณจะสามารถสร้างเว็บไซต์ได้อย่างไม่จำกัด ในขณะที่แพ็คเกจ StartUp คุณสามารถสร้างเว็บไซต์ได้เพียงแค่เว็บเดียว
นอกจากนี้แล้วแพ็คเกจ GrowBig จะเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่มีความเร็วมากกว่าและมีฟังก์ชั่นเสริมอื่นๆด้วย ทั้งนี้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงแพ็คเกจในภายหลังได้เช่นกัน
3. คลิกที่ปุ่ม ‘Get Plan’’ เพื่อเลือกแพ็คเกจที่ต้องการ
กรอกรายละเอียดสำหรับการสมัครโฮสติ้ง
1. กรอกข้อมูลส่วนตัวของคุณเพื่อสร้างแอคเคาท์และรายละเอียดการชำระเงิน (ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ)
Account Information (ข้อมูลบัญชี)
- Email: อีเมล
- Password: รหัสผ่าน
- Confirm Password: ยืนยันรหัสผ่าน

Client Information (ข้อมูลส่วนตัว)
- Country: ประเทศ
- First Name: ชื่อ
- Last Name: นามสกุล
- Company: บริษัท (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
- VAT/Tax ID: เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
- City: จังหวัด
- Street Address: ที่อยู่
- ZIP Code: รหัสไปรษณีย์
- Phone Number: เบอร์โทรศัพท์

Payment Information (ข้อมูลการชำระเงิน)
- Card Number: หมายเลขบัตรเครดิต
- Card Expiration: วันหมดอายุ
- Card Holder Name: ชื่อเจ้าของบัตร
- CVV Code: หมายเลขหลังบัตร

2. กรอกรายละเอียดคำสั่งซื้อ
Hosting Services
- Plan: ปล่อยเป็นค่าเดิมซึ่งเป็นแพ็คเกจที่เลือกในขั้นตอนแรก
- Data Center: ที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ (เลือกเป็น Asia ซึ่งเซิร์ฟเวอร์จะอยู่ที่สิงคโปร์)
- Period: ระยะเวลาของแพ็คเกจ (ยิ่งเลือกระยะเวลานานราคาจะยิ่งถูก เนื่องจากเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ราคาของแพ็คเกจจะปรับไปที่ราคาปกติ)
Extra Services
- Domain Registration: ค่าธรรมเนียมการจดโดเมนใหม่ซึ่งต้องจ่ายเป็นรายปี แต่หากคุณมีโดเมนอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
- Domain Privacy: เลือกตัวเลือกนี้เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณเมื่อนำชื่อโดเมนไปค้นหาจากฐานข้อมูล whois.net (แนะนำให้เลือกเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของเว็บไซต์)
- SG Site Scanner: บริการเสริมสำหรับการสแกนเว็บไซต์และแจ้งเตือนทันทีหากเว็บไซต์ของคุณถูกแฮ็กหรือมัลแวร์ (สำหรับการเริ่มต้นคุณยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มบริการนี้เพื่อประหยัดงบประมาณ)

3. หลังจากกรอกข้อมูลเสร็จหมดแล้ว ติ๊กที่กล่องยอมรับเงื่อนไขบริการและคลิกปุ่ม ‘Pay Now’

4. คลิกที่ปุ่ม ‘Proceed to Customer Area’ เพื่อเข้าสู่ระบบหลังบ้าน
คุณมีโดเมนและโฮสติ้งสำหรับการสร้างเว็บไซต์ใหม่แล้ว! ขั้นตอนถัดไปก็คือการติดตั้ง WordPress ให้เว็บไซต์ของคุณพร้อมใช้งาน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 3:
ติดตั้ง WordPress ให้เว็บไซต์พร้อมใช้งาน
ในส่วนนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการติดตั้ง WordPress ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำได้ 2 วิธีคือแบบ Auto และ Manual
เนื่องจาก SiteGround มาพร้อมกับวิธีการแบบ Auto ซึ่งทำให้คุณสามารถติดตั้ง WordPress ได้ภายในไม่กี่คลิกและใช้เวลาจริงๆไม่ถึง 5 นาที… นี่จึงเป็นขั้นตอนที่ทำให้การสร้างเว็บไซต์เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสำหรับคนที่เริ่มต้นอย่างมาก
ล็อคอินเข้าสู่แอคเคาท์ SiteGround ของคุณที่เพิ่งสมัครใช้บริการและทำตามขั้นตอนด้านล่างนี้เพื่อติดตั้ง WordPress ให้กับเว็บไซต์ใหม่ได้เลยครับ!
1. คลิกที่ปุ่ม ‘Set Up Site’ เพื่อเริ่มต้น

2. เลือก ‘Start New Website’ เพื่อสร้างเว็บไซต์ใหม่

3. เลือก ‘WordPress’ เพื่อเป็นแพลตฟอร์มของเว็บไซต์
เรามาทวนความจำกันสักนิดนึงครับ ตรงนี้เอง SiteGround คือโฮสติ้งที่จะทำหน้าที่เก็บไฟล์ทุกอย่างบนเว็บไซต์ของคุณ ในขณะที่ WordPress จะเป็นโปรแกรมที่ใช้สร้างเว็บไซต์…
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรากำลังจะติดตั้งโปรแกรม WordPress บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ SiteGround ของคุณนั่นเอง
หลังจากที่เลือก WordPress เรียบร้อยแล้วให้คุณตั้งค่าอีเมลและรหัสผ่านของเว็บไซต์ใหม่ได้เลยครับ

4. คลิกที่ปุ่ม ‘Continue’ และตรวจสอบรายการก่อนติดตั้ง
ในขั้นตอนถัดมาคุณจะสามารถเลือกเพิ่มบริการที่โดเมนของคุณยังไม่ได้ซื้อเอาไว้ในตอนแรกได้ ซึ่งผมแนะนำให้คุณเลือกเพิ่ม Domain Privay เพราะมันจะช่วยปกป้องข้อมูลส่วนตัวของคุณ
ทั้งนี้คุณอาจยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มบริการ SG Site Scanner ตอนนี้

5. กดปุ่ม ‘Pay Now’ (ในกรณีที่คุณเลือกบริการเสริม) หรือ ‘Finish’ (หากคุณไม่ต้องชำระเงินเพิ่มเติม)
หลังจากนั้นรอประมาณ 2 นาทีเพื่อให้ระบบติดตั้ง WordPress ให้กับเว็บไซต์ใหม่ของคุณ

เมื่อระบบติดตั้ง WordPress ให้กับคุณเสร็จเรียบร้อย คุณก็มีเว็บไซต์ WordPress ที่พร้อมใช้งานแล้ว!
โดยปกติหลังการติดตั้ง SiteGround จะแนะนำให้คุณเลือกธีมและติดตั้งปลั๊กอินที่จำเป็นสำหรับเว็บไซต์ทันที ซึ่งคุณสามารถทำตามคำแนะนำหรือกด ‘Exit’ เพื่อเข้าไปตั้งค่าทุกอย่างด้วยตัวเองก็ได้
คุณสามารถเข้าสู่ระบบผู้ดูแลเว็บไซต์ (admin) ด้วยการพิมพ์ชื่อโดเมนของคุณตามด้วย /wp-admin เช่น www.yourwebsite.com/wp-admin และใช้อีเมลและรหัสผ่านที่คุณตั้งเอาไว้เพื่อล็อคอิน

ขั้นตอนที่ 4:
ปรับแต่งหน้าตาของเว็บไซต์
หลังจากที่คุณติดตั้ง WordPress ให้กับเว็บไซต์ของคุณเสร็จเรียบร้อยแล้ว เว็บไซต์ของคุณจะยังเป็นเว็บเปล่าๆ ซึ่งคุณจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเนื้อหาและปรับแต่งหน้าตาของมัน
เนื่องจากการปรับแต่งเว็บไซต์นี้ไม่มีวิธีการที่ตายตัวและคุณสามารถทำทุกอย่างได้ตามใจชอบ คุณอาจหยุดอ่านบทเรียนนี้และทดลองใช้งานเว็บไซต์ใหม่ของคุณด้วยตัวเอง
ดังนั้นในขั้นตอนนี้ผมอยากจะพูดถึงวิธีการใช้งาน WordPress เพื่อให้คุณสามารถเพิ่มเนื้อหาต่างๆและปรับแต่งเว็บไซต์ให้ได้อย่างที่ต้องการ
วิธีการใช้งาน WordPress เบื้องต้น
เพื่อให้คุณสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ได้อย่างที่ต้องการ คุณจำเป็นที่จะต้องทราบวิธีการใช้งานเครื่องมือต่างๆภายใน WordPress ซึ่งด้านล่างนี้คือแถบคำสั่งมาตรฐานภายในระบบหลังบ้าน

1. Dashboard – ในส่วนนี้ WordPress จะให้คำแนะนำต่างๆในการจัดการเว็บไซต์รวมไปถึง Shortcut ที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้คุณจัดการเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น
2. Posts – คำสั่งสำหรับการสร้างโพสต์ที่เป็นบทความหรือข่าวสาร
3. Media – คุณสามารถอัพโหลดรูปภาพ, วีดีโอ หรือไฟล์ต่างๆที่ต้องการใช้บนเว็บไซต์ไว้ที่นี่
4. Pages – คำสั่งสำหรับการสร้างหน้าต่างๆในเว็บไซต์
5. Comments – คำสั่งนี้ใช้สำหรับการดูแลและจัดการคอมเมนต์ของผู้อ่านบนเว็บไซต์
6. Appearance – คุณสามารถปรับแต่งดีไซต์และหน้าตาของเว็บไซต์ที่นี่ ซึ่งคำสั่งนี้จะใช้สำหรับการควบคุมการแสดงผลทั้งหมดบนเว็บไซต์ของคุณ
7. Plugins – ใช้คำสั่งนี้เพื่อติดตั้งปลั๊กอินเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพและฟังก์ชั่นต่างๆบนเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้นและตรงกับความต้องการของคุณ
8. Users – คำสั่งนี้ใช้สำหรับการจัดการผู้ใช้งานบนเว็บไซต์
9. Settings – การตั้งค่าต่างๆบนเว็บไซต์
ในขั้นตอนแรกสุดหลังจากที่คุณเพิ่งติดตั้ง WordPress เราจะเริ่มต้นด้วยการอัพเกรดเว็บไซต์ให้เป็น HTTPs
ติดตั้ง SSL Certificate
ปกติแล้ว SiteGround จะติดตั้ง SSL ให้กับเว็บไซต์ใหม่ของคุณโดยอัตโมัติ ซึ่งทำให้เว็บไซต์สามารถใช้งาน HTTPs ได้ทันที
คุณสามารถตรวจสอบว่าเว็บไซต์ของคุณถูกติดตั้ง SSL แล้วหรือยังด้วยการล็อกอินเข้าไปที่แอคเคาท์โฮสติ้ง SiteGround ของคุณ จากนั้นเลือกเว็บไซต์ที่ต้องการตรวจสอบและเลือก Security >>> SSL Manager
หากเว็บไซต์ถูกติดตั้ง SSL เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของ Manage SSL คุณก็จะเห็นสถานะ Active ตรงโดเมนของคุณ

ทั้งนี้หากคุณเข้าเว็บไซต์ของตัวเองแล้วแต่เว็บไซต์ยังแสดงผลเป็น HTTP แทนที่จะเป็น HTTPs คุณก็จำเป็นที่จะต้องตั้งค่าเพิ่มเติมในระบบหลังบ้านของ WordPress ด้วยนั่นเอง
กลับมาที่เว็บไซต์ WordPress Dashboard (ส่วนผู้ดูแลเว็บไซต์) ของเว็บไซต์คุณ และไปที่ Settings >>> General (เมนูด้านซ้ายมือ)

จากนั้นเปลี่ยนค่าในช่อง Website Address และ Site Address ให้เป็น https แล้วกด Save Changes เพื่อให้เว็บไซต์ของคุณแสดงผลเป็น HTTPs เป็นอันเสร็จสิ้น

ทำไมการติดตั้ง SSL นี้จึงสำคัญ?
คุณอาจกำลังสงสัยว่าทำไมเราจึงต้องตั้งค่าเว็บไซต์ให้เป็น https ด้วย ในเมื่อเว็บไซต์ของคุณก็สามารถใช้งานด้วย http ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเหตุผลสำคัญมีดังนี้:
- SSL ช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
ทั้งนี้ก็เพราะเบราเซอร์ของผู้ใช้งานจะมีข้อความแสดงว่าการเชื่อมต่อกับเว็บไซต์คุณนั้นปลอดภัย ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลส่วนตัว เช่น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือบัตรเครดิต จะหลุดไปสู่บุคคลอื่น และสามารถทำการสั่งซื้อบนเว็บไซต์พร้อมชำระเงินออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย - เว็บไซต์จำเป็นต้องมี SSL สำหรับการทำโฆษณาออนไลน์
แพลตฟอร์มสำหรับการลงโฆษณาออนไลน์อย่าง Google และ Facebook คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานไปอย่างมาก ซึ่งการติดตั้ง SSL นี้จะช่วยให้คุณสามารถนำเว็บไซต์ไปโปรโมทบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้โดยไม่มีปัญหา - SSL ช่วยให้เว็บไซต์แสดงบนเซิจเอนจิ้นในอันดับที่ดีขึ้น
คุณภาพของเว็บไซต์เป็นปัจจัยหนึ่งที่เซิจเอนจิ้นนำมาจัดอันดับและเลือกว่าจะแสดงเว็บไซต์ใดก่อนให้กับผู้ใช้งาน เนื่องจากการติดตั้ง SSL เป็นการยืนยันว่าเว็บไซต์ของคุณมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน เว็บไซต์ของคุณก็จะมีโอกาสทำอันดับการค้นหาได้ดีกว่าเว็บไซต์อื่นๆที่ไม่ได้ติดตั้ง SSL นั่นเอง
เมื่อเว็บไซต์ของคุณจัดการเรื่อง SSL เสร็จเรียบร้อยแล้ว เรามาปรับแต่งหน้าตาของเว็บไซต์และเพิ่มเนื้อหากันเลยครับ
เลือกธีมเว็บไซต์
ข้อดีของการเขียนเว็บไซต์ด้วย WordPress ก็คือเราสามารถที่จะออกแบบหน้าเว็บได้หลากหลายและดีไซน์มันออกมาให้มีหน้าตาตามที่ต้องการด้วยการใช้สิ่งที่เรียกว่า ธีม (Theme)…
ซึ่งธีมมาตรฐานของ WordPress จะทำให้เว็บไซต์ของคุณมีหน้าตาเริ่มต้นประมาณนี้

แน่นอนว่ามันอาจจะยังไม่ถูกใจคุณสักเท่าไร…
เรามาเริ่มต้นปรับแต่งเว็บไซต์ด้วยการเลือกธีมใหม่ ซึ่งสามารถทำได้โดย:
1. เลือกธีมที่ต้องการ
ไปที่ Appearance >>> Themes จากนั้นกด Add New Theme
คุณจะเห็นธีมจำนวนมากแสดงขึ้นมาให้คุณเลือกซึ่งธีมเหล่านี้เปิดให้คุณใช้งานได้ “ฟรี”
หากธีมเหล่านี้ยังไม่ถูกใจหรือคุณต้องการธีมที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก คุณสามารถลองค้นหา Premium Theme จาก ThemeForest.net ได้ ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละธีม
ทั้งนี้ผมแนะนำให้คุณลองใช้งานธีมฟรีเหล่านี้ก่อน ซึ่งหากคุณอยากเปลี่ยนเป็นธีมอื่นๆหรือ Premium Theme ในภายหลังก็สามารถทำได้ทุกเมื่อ

2. ติดตั้งธีมและเปิดใช้งาน
หลังจากที่คุณได้ธีมที่ต้องการแล้วให้กด Install ตามด้วย Activate เป็นอันเสร็จสิ้นการติดตั้งและเปิดใช้งานธีม

3. ปรับแต่งธีม
ไปที่ Appereance >>> Customize แล้วคุณจะเห็น Interface ซึ่งเป็นตัวเลือกต่างๆสำหรับการปรับแต่ง
แต่เนื่องจากแต่ละธีมมักจะมีตัวเลือกในการปรับแต่งเว็บไซต์ที่แตกต่างกัน ผมจะไม่ขอพูดถึงรายละเอียดในส่วนนี้ และจะพูดถึงวิธีการใช้งาน WordPress ซึ่งเป็นคำแนะนำโดยทั่วไปเท่านั้น
ดังนั้นคุณสามารถทดลองใช้งานธีมที่เพิ่งติดตั้งและทดลองปรับแต่งหน้าตาของเว็บไซต์ด้วยตัวเอง

เมื่อคุณแก้ไขทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถกดปุ่ม Publish เพื่ออัพเดทหน้าตาของเว็บไซต์ได้ทันที
เปลี่ยนโครงสร้างของ URL
WordPress จะมีการตั้งค่าเดิมของโครงสร้าง URL มาให้กับคุณอยู่แล้ว แต่การตั้งค่านั้นยังไม่เหมาะสมกับการทำ SEO คุณจึงควรเปลี่ยนโครงสร้างให้ถูกต้องเพื่อให้เว็บไซต์ของคุณถูกค้นเจอได้ง่ายขึ้นบนเซิจเอนจิ้น
คุณสามารถเปลี่ยนโครงสร้าง URL โดยไปที่ Settings >>> Permalinks ซึ่งค่าเดิมที่ WordPress ตั้งมาให้อาจเป็น Plain หรือ Day and name

ทั้งนี้การตั้งแค่แบบ Plain หรือ Numeric จะทำให้ URL โพสของคุณแสดงเป็นตัวเลข ซึ่งไม่เหมาะกับการทำ SEO เท่าไรนัก ดังนั้นผมแนะนำให้คุณเลือกโครงสร้าง URL ที่มีชื่อโพสแสดง
โดยส่วนตัวแล้วผมชอบการแสดงผลแบบ Post name มากที่สุดแต่คุณสามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะที่สุดกับเว็บไซต์ของคุณ
ติดตั้ง Plugin ที่จำเป็น
การติดตั้งปลั๊กอินจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆให้กับเว็บไซต์ของคุณ พร้อมทั้งเพิ่มฟังก์ชั่นและความสามารถของเว็บไซต์ให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
กล่าวคือหาก WordPress คือสมาร์ทโฟน ปลั๊กอินก็คือแอพที่คุณติดตั้งในสมาร์ทโฟนนั่นเอง
แต่เนื่องจากมีปลั๊กอินมากมายที่คุณจะสามารถติดตั้งได้ และปลั๊กอินแต่ละตัวก็ทำหน้าที่ที่ต่างกัน หากคุณยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำเว็บไซต์มากนัก นี่คือปลั๊กอินฟรีที่ผมแนะนำว่าควรมีติดเว็บไซต์ของคุณ
Yoast SEO for WordPress
หากคุณต้องการปรับแต่ง SEO สำหรับเว็บไซต์เพื่อให้แสดงผลบนเซิจเอนจิ้น โดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่มีปลั๊กอินตัวไหนเหมาะไปกว่า Yoast SEO
หน้าที่หลักๆของปลั๊กอินตัวนี้จะทำให้คุณสามารถตั้งค่า Title Tag, Meta Description, Sitemap และการตั้งค่าอื่นๆที่จำเป็นเพื่อทำให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับการค้นหาได้ง่ายขึ้น

Google Analytics Plugin for WordPress
สิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำการตลาดออนไลน์ก็คือการวัดผล ซึ่งการติดตั้ง Google Analytics จะทำให้คุณทราบถึงพฤติกรรมคนที่เข้าชมเว็บไซต์ของคุณ
ปลั๊กอินตัวนี้จะช่วยให้คุณทราบข้อมูลที่จำเป็นต่างๆที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ เช่น จำนวนผู้เข้าชม, หน้าเว็บไซต์ที่คนเข้าชมบ่อยที่สุด, แหล่งที่มาของผู้เข้าชม, และอื่นๆอีกมากมาย เพื่อให้คุณสามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น

WPForms
เว็บไซต์มีหน้าที่ทำให้ลูกค้าสามารถค้นเจอธุรกิจของคุณได้บนอินเทอร์เน็ต แต่หลังจากที่ลูกค้าเจอธุรกิจของคุณแล้ว เขาย่อมต้องการติดต่อคุณเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสั่งซื้อสินค้า
ปลั๊กอิน WPForms นี้เป็นปลั๊กอินพื้นฐานที่ SiteGround ติดตั้งมาให้กับเว็บไซต์อยู่แล้ว…
ซึ่งปลั๊กอินนี้จะทำให้คุณสามารถสร้างแบบฟอร์มบนเว็บไซต์ เพื่อให้ลูกค้าของคุณกรอกข้อมูลเพื่อติดต่อสอบถามได้ทันทีโดยไม่ต้องล็อกอินผ่านอีเมลส่วนตัว จากนั้นจะทำการแจ้งเตือนคุณผ่านทางอีเมลเมื่อมีคนลงทะเบียนแบบฟอร์ม

นอกเหนือไปจากปลั๊กอิน 3 ตัวนี้แล้วยังมีปลั๊กอินตัวอื่นๆอีกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งเราจะมาพูดถึงกันในโอกาสต่อๆไป
คุณสามารถไปที่ Plugins >>> Add New เพื่อหาปลั๊กอินใหม่บนเว็บไซต์ จากนั้นกด “Install Now” เพื่อติดตั้ง และ “Activate” เพื่อเปิดใช้งาน
สร้างหน้าใหม่และเพิ่มเนื้อหา
เว็บไซต์ของคุณจำเป็นต้องมีหน้าต่างๆและมีคอนเทนต์ในหน้านั้นๆเพื่อให้ผู้เข้าชมอ่านหรือมีส่วนร่วม
ซึ่งการสร้างหน้าเพิ่มเติมของ WordPress จะถูกแบ่งเป็น 2 แบบคือ…
Pages
เหมาะสำหรับหน้าเว็บไซต์ที่เป็นเนื้อหาหลัก เช่น Homepage, รายละเอียดบริการ, เกี่ยวกับเรา, ติดต่อเรา หรือหน้าอื่นๆซึ่งเป็นเนื้อหาที่ไม่ได้มีการอัพเดทอย่างสม่ำเสมอ
คุณสามารถไปที่ Pages >>> Add New เพื่อสร้างหน้าเว็บไซต์ใหม่

หลังจากที่คุณคลิกเข้ามาแล้ว คุณจะเจอหน้าจอคำสั่งที่คล้ายกับ Microsoft Word ซึ่งคุณสามารถใส่ได้ทั้งข้อความ, รูปภาพ, วีดีโอ, หรืออะไรก็ตามที่คุณต้องการ
ทั้งนี้หลักจากคุณสร้างเนื้อหาเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณสามารถคลิกที่ปุ่ม Preview เพื่อแสดงตัวอย่าง หรือกดปุ่ม Publish เพื่อให้หน้านี้เป็นสาธารณะและพร้อมแสดงผลบนเว็บไซต์ของคุณ

นี่คือหน้ามาตรฐานบนเว็บไซต์ที่คุณควรมี:
- Homepage – หน้าหลักซึ่งเป็นหน้าแรกสุดของเว็บไซต์ เนื่องจากหน้า Homepage คือหน้าที่สำคัญที่สุดเพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดว่าผู้เข้าชมจะอ่านคอนเทนต์ที่อยู่ในหน้าอื่นๆบนเว็บไซต์หรือไม่ คุณจึงควรใช้เวลาออกแบบและเขียนคอนเทนต์ให้ดีที่สุด
- About – หน้าเกี่ยวกับเร่าเพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
- Contact – หน้าติดต่อเราเพื่อให้ผู้เข้าชมรู้ว่าจะติดต่อคุณได้อย่างไร (โดยปกติแล้วหน้าติดต่อเรานี้มักจะมีแบบฟอร์มให้กรอก)
- Privacy Policy – หน้านโยบายความเป็นส่วนตัวซึ่งอธิบายว่าคุณเก็บข้อมูลอะไรของผู้เข้าชมบ้าง และเก็บไปทำอะไร หน้านี้เป็นหน้าที่คุณจำเป็นต้องมี เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันมีการบังคับให้คุณเปิดเผยนโยบายนี้ต่อผู้เข้าชมเว็บไซต์
- Products / Services – หน้ารายละเอียดสินค้าและบริการ เพื่อให้ข้อมูลว่าธุรกิจของคุณมีสินค้าและบริการอะไรบ้าง
- Portfolio – หน้าตัวอย่างผลงาน สำหรับการแสดงผลงานจากลูกค้ารายอื่นๆของธุรกิจของคุณ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายใช้ประกอบการตัดสินใจ
- Store – หน้าร้านค้า สำหรับการแสดงสินค้าทั้งหมด หน้าร้านค้านี้เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการขายสินค้าออนไลน์ซึ่งคุณจำเป็นต้องติดตั้งปลั๊กอิน WooCommerce
เมื่อคุณสร้างหน้าที่เว็บไซต์ควรจะมีครบหมดแล้ว ถัดมาก็คือการเพิ่มเนื้อหาในส่วนของ Posts
Posts
การสร้างหน้าด้วยคำสั่ง Posts จะเหมาะสำหรับ Blog หรือเนื้อหาที่มีการอัพเดทอย่างสม่ำเสมอ เช่น บทความให้ความรู้ต่างๆ หรือการแจ้งข่าวสารใหม่ๆเกี่ยวกับธุรกิจ
คุณสามารถไปที่ Posts >>> Add New เพื่อสร้างโพสต์ใหม่

หลังจากที่คุณคลิกเข้ามาแล้ว คุณจะเจอหน้าจอคำสั่งที่คล้ายกับ Microsoft Word เช่นเดียวกับ Pages แต่สิ่งที่จะมีเพิ่มเติมก็คือ คุณสามารถที่จะเพิ่มในส่วนของ Categories และ Tags เพื่อจัดหมวดหมู่ของโพสต์ที่สร้างขึ้นมาได้
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการจัดหมวดหมู่นี้ก็คือจะช่วยให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณหาหน้าต่างๆเจอได้ง่ายขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสในการทำอันดับ SEO ของเว็บไซต์

เมื่อคุณสร้างเนื้อหาเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณสามารถคลิกที่ปุ่ม Preview เพื่อแสดงตัวอย่าง หรือกดปุ่ม Publish เพื่อให้โพสต์นี้เป็นสาธารณะและพร้อมแสดงผลบนเว็บไซต์ของคุณเช่นเดียวกับการสร้างหน้าใหม่ด้วยคำสั่ง Add New Page
การอัพเดทโพสต์ใหม่ๆหรือการเขียนบล็อกอย่างสม่ำเสมอนี้จะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณมีคนเข้าชมเพิ่มขึ้นและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ
ดังนั้นอย่าลืมให้ความสำคัญกับการเขียนบล็อกบนเว็บไซต์ของคุณด้วย
ตั้งค่าหน้าแรกของเว็บไซต์
คุณสามารถเลือกได้ว่าจะให้หน้าแรกของเว็บไซต์คุณเป็นหน้าใดโดยไปที่ Settings >>> Reading จากนั้นเลือกหน้าที่คุณต้องการจากคำสั่ง Homepage และ Posts page
ทั้งนี้หากคุณไม่ได้ตั้งค่าสำหรับหน้าแรก ตัว WordPress เองก็จะถึงโพสต์ล่าสุดของเว็บไซต์คุณขึ้นมาแสดงบน Homepage

เพิ่มแถบเมนูบนเว็บไซต์ (Navigation Bar)
หากคุณต้องการให้ผู้ใช้งานเข้าถึงหน้าต่างๆที่คุณมีผ่านทางแถบเมนูบนเว็บไซต์ คุณสามารถทำได้โดยไปที่ Appearance >>> Menus จากนั้นทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. กด ‘create a new menu’ เพื่อสร้างเมนูใหม่
ทั้งนี้คุณสามารถปรับแต่งเมนูเดิมที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องสร้างเมนูใหม่ก็ได้ การสร้างเมนูเพิ่มเติมนี้จะทำให้คุณสามารถสลับ, แก้ไข, และเปลี่ยนตำแหน่งของเมนูต่างๆในภายหลังได้

2. เลือกหน้าที่ต้องการเพิ่มลงไปในเมนู
หน้าต่างๆบนเว็บไซต์ของคุณจะแสดงขึ้นมาทางด้านซ้ายมือ โดยคุณสามารถเลือกหน้าที่ต้องการและคลิกที่ปุ่ม ‘Add to Menu’ เพื่อเพิ่มหน้าเหล่านี้เข้าไป

3. เรียงลำดับหน้าต่างๆบนเมนูและเลือกตำแหน่งที่ต้องการแสดงผล
คุณสามารถกำหนดได้ว่าต้องการให้หน้าเว็บไซต์ใดแสดงก่อนหรือหลังในเมนู รวมทั้งต้องการให้เมนูมีหน้าย่อยภายใต้หน้าหลักหรือไม่
เมื่อเรียงลำดับหน้าต่างๆเสร็จแล้วให้คุณเลือกตำแหน่งการแสดงแถบเมนูนี้ที่ Display location

ทั้งนี้ตำแหน่งการแสดงผลของเมนูจะขึ้นอยู่กับธีมที่คุณเลือกเอาไว้ บางธีมอาจมีตำแหน่งสำหรับการแสดงเมนูมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง
4. คลิกที่ปุ่ม ‘Save Menu’ เพื่ออัพเดทการแสดงผล
หลังจากนั้นเมื่อคุณเข้าเว็บไซต์ของคุณ เมนูใหม่นี้ก็จะแสดงขึ้นมา
ปรับแต่ง Sidebar Widget
โดยปกติแล้วหลายๆธีมของ WordPress มักจะมีแถบ Sidebar ทางด้านขวาซึ่งคุณสามารถแก้ไขเมนูต่างๆบนแถบนี้ได้โดยไปที่ Appearance >>> Widgets
1. เลือก Widget ที่ต้องการ
ในหน้าจอคำสั่งนี้คุณสามารถลากวางแถบ Widget ต่างๆจาก Available Widgets เข้าไปที่ Main Sidebar หรือ Footer ที่ต้องการ รวมทั้งสามารถลบและเรียงลำดับ Widget ที่ใส่เข้าไปแล้วได้อีกด้วย

2. เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบการแสดงผลของ Widget
Widget ที่คุณเลือกเอาไว้จะแสดงผลขึ้นมาบนหน้าเว็บไซต์ในส่วนของ Sidebar ซึ่งคุณสามารถปรับแต่ง, สลับตำแหน่ง หรือลบ Widget ที่ไม่ต้องการก็ได้

3. ลบ Widget ที่คุณไม่ต้องการ
ลาก Widget ที่คุณไม่ต้องการออกมาจาก Sidebar หรือคลิกที่ Widget และกดปุ่ม ‘Delete’

4. เพิ่ม Widget ใหม่
ลาก Widget ที่ต้องการไปใส่ใน Sidebar เช่น ในกรณีที่คุณต้องการเพิ่มข้อความและรูปภาพ คุณก็สามารถใช้ Widget ที่เป็น Text หรือ Image เป็นต้น
เมื่อปรับแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว คลิกที่ปุ่ม ‘Save’ แล้ว Sidebar ของคุณก็จะถูกอัพเดททันที
เปิดให้เว็บไซต์ถูกเซิจเอนจิ้นมองเห็นได้
ปกติ WordPress จะตั้งค่าให้เว็บไซต์ถูกเซิจเอนจิ้งมองเห็นได้อยู่แล้ว แต่คุณควรเช็คอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจเพราะการปิดการตั้งค่านี้จะทำให้เว็บไซต์ของคุณไม่มีผลกับการทำ SEO และไม่สามารถถูกค้นเจอบนเซิจเอนจิ้น
คุณสามารถไปที่ Settings >>> Reading แล้วเอาเครื่องหมายติ๊กถูกออกจากคำสั่ง ‘Discourage search engines from indexing this site’ ซึ่งอยู่ด้านล่างสุด จากนั้นคลิก Save Changes
สำคัญมาก! อย่าติ๊กถูกที่ช่องนี้ เพราะเว็บไซต์ของคุณจะไม่แสดงบนผลเซิจเอนจิ้นและคุณอาจเสียโอกาสในการสร้างผู้เข้าชมจำนวนมาก

ยินดีด้วย! เว็บไซต์ของคุณพร้อมใช้งานแล้ว
สิ่งที่คุณเพิ่งจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการสร้างเว็บไซต์ WordPress ประกอบไปด้วย:
- ขั้นตอนที่ 1: เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์
- ขั้นตอนที่ 2: สมัครโดเมนและโฮสติ้ง
- ขั้นตอนที่ 3: ติดตั้ง WordPress ให้เว็บไซต์พร้อมใช้งาน
- ขั้นตอนที่ 4: ปรับแต่งหน้าตาของเว็บไซต์
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คุณจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ของคุณอยู่เสมอ
คู่มือที่ผมเขียนขึ้นมานี้เป็นเพียงวิธีการแบบง่ายๆเพื่อให้คุณมีเว็บไซต์ที่พร้อมใช้งานเท่านั้น คุณยังจำเป็นที่จะต้องทดลองใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความคุ้นเคยในการสร้างเว็บไซต์
วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็คือ “การเรียนรู้จากการลงมือทำ”
และเมื่อคุณมีความเชี่ยวชาญกับการใช้เครื่องมือต่างๆของ WordPress คุณก็จะสามารถสร้างเว็บไซต์ได้ออกมาตรงกับความต้องการของตัวเอง
อย่างไรก็ดี การสร้างเว็บไซต์เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจบนโลกออนไลน์เท่านั้น อย่าลืมที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีทำการตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจด้วยเพื่อให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ได้อย่างเต็มที่
แล้วพบกันในบทเรียนต่อๆไปครับ!